ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งใกล้ 30 คนต่อวัน หลังผู้ป่วยโควิด-19 อาหารหนักมากขึ้น

05 พ.ค. 2564 | 02:05 น.

หมออนุตตรเผยยอดผู้เสียชีวิตพุ่งใกล้ 30 คนต่อวัน หลังผู้ป่วยโควิด-19 อาหารหนักมากขึ้น ชี้เตียงรับผู้ป่วย ในโรงพยาบาลน่าจะอิ่มตัว

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า

เปิดดูข้อมูลแนวโน้มเรื่องภาระงานในโรงพยาบาลที่ผ่านมา จากรายงานของศูนย์ข้อมูล COVID-19 ที่นำเสนอโดย ศบค. เลยลองเอามา plot graph ข้อมูลให้เห็นภาพง่าย ๆ มีข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจตั้งแต่วันที่ 24 เมษายนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 10 วัน

จำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงจะไม่ขึ้นเร็วเหมือนจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด เพราะนอกจากจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเข้ามานอนแล้ว ก็มีผู้ป่วยที่หายจำหน่ายกลับบ้านด้วย จะเห็นว่าจำนวนผู้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจริง ๆ (สีเหลือง) มี % เพิ่มขึ้นไม่ได้มากนัก อยู่ที่ประมาณ 18,000-21,000 คน แต่ที่เพิ่่มขึ้นเรื่อย ๆ คือที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม (สีเขียว) เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 4,000 กว่าคนเป็น 8,000 กว่าคน ใน 10 วัน

จำนวนผู้ป่วยรักษาตัวอยู่

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 400 กว่าคน เป็น 1,000 กว่าคนในช่วง 10 วัน และที่สำคัญมีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (สีแดงเข้ม) เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จาก 100 กว่าคน เป็น 300 กว่าคน ทำให้การเสียชีวิต (สีดำ) อยู่ที่ใกล้ ๆ 30 คนต่อวัน

จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิต

แสดงว่าเตียงรับผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลน่าจะอิ่มตัว ไม่สามารถเพิ่มได้อีกเท่าไหร่ แต่มีภาระในการดูผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ป่วยที่อาการน้อยหรือปานกลางมีโอกาสที่จะมีอาการหนัก และผู้ที่มีอาการหนักบางรายก็จะมีอาการรุนแรงขึ้นจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องปรับใช้หอผู้ป่วยอาการน้อยหรือปานกลางมาดูแลผู้ป่วยอาการหนัก และต้องมาใส่เครื่องช่วยหายใจในหอผู้ป่วยอาการหนักแทนที่จะดูแลใน ICU เฉพาะ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะได้เห็นการเสียชีวิตรายวันแบบนี้ หรือมากกว่านี้ไปอีกระยะหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บุคลากรทางการแพทย์ในทุกโรงพยาบาลทำงานกันอย่างเต็มที่ ด้วยความร่วมมือร่วมใจ แบ่งเบาภาระงาน สามัคคีกัน ระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ ต้องมีการปรับปรุงแก้ปัญหากันตลอดในทุกระดับ ตั้งแต่ในทุกโรงพยาบาล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ทุกเขตสุขภาพ และในระดับประเทศ โดยเฉพาะใน กทม.ที่เป็นพื้นที่ระบาดหนักในปัจจุบัน มีจำนวนผู้ป่วยเกินครึ่งอยู่ใน กทม.

ขณะเดียวกัน กทม.ก็เป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการยากที่สุด เพราะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องมากมาย แค่สถานพยาบาลก็มีทั้งของ กทม. สาธารณสุข รร.แพทย์ รพ.ทหาร และ รพ.เอกชน ทำให้ประสานงานกันได้อย่างยากลำบาก รวมทั้งการสั่งการต่าง ๆ ก็เป็นไปได้ยาก เหมือนการรบในสงครามที่มีหน่วยทหารเก่ง ๆ เยอะ แต่ขาด Line of Command ที่ชัดเจน แต่ตอนนี้การพูดคุยกันมากขึ้นระหว่างทุกหน่วยงาน น่าจะทำให้การประสานงานต่าง ๆ ดีขึ้น

อยากให้ทุกคน lock down ตัวเอง อยู่บ้านถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ อย่าออกไปไหนกันดีกว่า ล้างมือบ่อย ๆ สวมมาสก์ เว้นระยะห่าง แยกกันรับประทานอาหาร แม้แต่อยู่ในบ้าน เพราะการระบาดในระลอกนี้เกิดจากการติดต่อในครอบครัวมากกว่าครึ่ง สถานประกอบการต่าง ๆ คงได้รับผลกระทบอย่างมากจากมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา แต่ก็ขอให้ร่วมมือกันเพื่อลดการระบาดให้ได้โดยเร็ว แล้วก็อย่าลืมลงทะเบียนหมอพร้อมเพื่อฉีดวัคซีนกันถ้วนหน้า ช่วยลดอาการหนักและการเสียชีวิต ทำให้ลดการสูญเสียกันนะครับ

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ คน พวกเราต้องร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยเหลือให้กำลังใจและสามัคคีกัน เพื่อเอาชนะสงครามโรคครั้งนี้ให้ได้ โดยการสูญเสียให้น้อยที่สุดครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :