ส่องพิมพ์เขียว “มาเลเซีย” ชิงธงผู้นำศก.ดิจิทัลอาเซียน

01 พ.ค. 2564 | 11:19 น.

เปิดพิมพ์เขียวเศรษฐกิจดิจิทัลมาเลเซีย เล็งเป้าผู้นำอาเซียน ดันสู่ประเทศมีรายได้สูง เล็งปี 65 ทุกหน่วยราชการเป็นสังคมไร้เงินสด ทูตพาณิชย์ชี้เป็นโอกาสไทยค้าออนไลน์

สำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ(สคต./ทูตพาณิชย์) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รายงานอ้างอิงข้อมูลสื่อของมาเลเซียว่า Tan Sri Muhyiddin Yassin นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้เปิดตัวแผนพิมพ์เขียวเศรษฐกิจดิจิทัลมาเลเซีย ระยะเวลา 10 ปี (10-year Digital Economy Blueprint) เพื่อใช้เป็นแนวทางเปลี่ยนแปลงมาเลเซียไปสู่ประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีรายได้สูง และขึ้นเป็นผู้นําด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค แบ่งการดําเนินการเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย:

 - ระยะที่ 1 (ปี 2564-2565) : วางรากฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเตรียมพร้อมให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัล

- ระยะที่ 2 (ปี 2566-2568) : ผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยเน้นให้ทุกภาคส่วนธุรกิจและ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

- ระยะที่ 3 (ปี 2569-2573) : วางตำแหน่งให้มาเลเซียเป็นผู้นําด้านดิจิทัลในภูมิภาค ทั้งในส่วนการผลิต สินค้าดิจิทัลและการให้บริการด้านดิจิทัล โดยตามพิมพ์เขียวข้างต้น รัฐบาลได้วางเป้าหมายไว้ดังนี้:

ภายในปี 2565

 - ทุกกระทรวงและหน่วยงานจะต้องเป็นสังคมไร้เงินสด

- ข้อมูลของภาครัฐร้อยละ 80 จะต้องจัดเก็บในระบบ Cloud

 - ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสารในองค์กรทุกกระทรวง

- แพลตฟอร์ม OSC 3.0 Plus online จะถูกใช้เป็นช่องทางในการพัฒนาควบคุมองค์กรท้องถิ่น สำหรับ แผนพัฒนาองค์กร การชำระเงินออนไลน์ และสามารถให้หน่วยงานหน่วยงานด้านเทคนิคตรวจสอบ ผลลัพธ์ในระบบได้

 - การทำธุรกรรมชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเกิดขึ้น 400 รายการต่อคน

 - มอบอำนาจให้หน่วยวางแผนการจัดการและการทำให้การบริหารทันสมัยของมาเลเซีย (MAMPU) เป็น ที่ปรึกษา หนึ่งในสมาชิกโครงการ และผู้เชี่ยวชาญโครงการที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลทั่วประเทศ

 ภายในปี 2568

- ชาวมาเลเซียทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้

 - เกิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์: My Device, My Digital Teacher Programme

 - เศรษฐกิจดิจิทัลมาเลเซียจะคิดเป็นร้อยละ 22.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

- ดึงดูดธุรกิจ Startup 2-5 แห่งที่เติบโตจนมีมูลค่าบริษัทมากถึง 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (หรือ ประมาณ 33,000 ล้านบาท)

- เกิดการลงทุนด้านดิจิทัลรวม 70,000 ล้านริงกิต (518,000 ล้านบาท)

 - ภาครัฐดำเนินการให้บริการการธุรกรรม/เอกสารออนไลน์ต่างๆตั้งแต่ต้นจนจบ

- กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบรอดแบนด์สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานระดับรัฐบาลกลางและระดับรัฐ (พระราชบัญญัติการปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2519 และพระราชบัญญัติถนนการระบายน้ำและอาคาร พ.ศ. 2517 [พระราชบัญญัติ 133]) จะได้รับการปรับปรุง

 - ทุกกระทรวงและหน่วยงานใช้ MyGDX แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางของรัฐบาลมาเลเซีย มีทั้งข้อมูลทั่วไปที่อ้างถึงโดยหน่วยงานของรัฐและข้อมูลที่มาจากแหล่งข้อมูลดั้งเดิม

 - ทุกโรงเรียนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ มีการสนับสนุนเงินทุนจากภาคเอกชนและองค์กรภาค ประชาสังคม (CSOs)

- อุตสาหกรรมการจัดเก็บข้อมูล และบริหารระบบขององค์กรท้องถิ่นจะสามารถสร้างรายได้ 36,000 ล้านริงกิต (266,400 ล้านบาท)

 - ดำเนินการติดตั้งสายเคเบิ้ลใต้น้ำมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

 ภายในปี 2573

 - มาเลเซียจะกลายเป็นผู้ผลิตสินค้าดิจิทัลในภูมิภาคและผู้ให้บริการดิจิทัลแบบศูนย์รวม (DSP)

สคต. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ให้ความเห็น และชี้ให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทย ว่า สำหรับแผน MyDigital ที่รัฐบาลมุ่งเน้นในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สคต. เห็นว่าปัจจัยแห่ง ความสำเร็จของการขับเคลื่อนโยบาย รัฐบาลมาเลเซียจะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน 5 ด้าน คือ

 1. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น โครงข่าย 5G และ เทคโนโลยี cloud Computing

 2. แสวงหาโอกาสทางการค้าด้วยการพัฒนาเทคโลยีของสินค้าและบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

 3. พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของแรงงานในประเทศ พร้อมกับสร้างแรงดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจาก ต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน

4. เร่งปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

5. ขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นๆ นอกเหนือจากแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ เช่น การสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบของ Venture Capital ภายใต้โครงการ Per Dana Penjana Initiative ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง

 แม้รัฐบาลจะยกระดับระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตัลเพิ่มมากขึ้น แต่ความต้องการการบริโภคของประชากรในประเทศจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหาร สุขภาพ และไลฟ์สไตล์ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรต้องเตรียมพัฒนาช่องทางการตลาดให้สามารถ รองรับกับรูปแบบการค้าในรูปแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ระบบการ บริหารจัดการการขนส่ง และระบบการชำระเงิน ทั้ง การใช้ mobile banking ระบบ online payment และ digital invoice เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องลงทุน (เงิน คน และเวลา) เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับรูปแบบ การค้าที่เปลี่ยนไปของมาเลเซียได้ ถึงแม้มาเลเซียจะเป็นตลาดที่มีประชากรน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่ง แต่มีกำลังซื้อ และมีศักยภาพในการซื้อสูง อีกทั้งการปรับตัวเพื่อรองรับกับเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเป็น megatrend ของโลก เป็นสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ยิ่งปรับตัวเร็ว ยิ่งมีโอกาสเร็ว