'ช. การช่าง' จ่ายปันผลหุ้นละ 0.20 บาท

30 เม.ย. 2564 | 13:02 น.

ช. การช่าง เผยผลดำเนินงาน 2563 ยังคงแข็งแกร่งอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้ได้รับผลกระทบจากไวรัส-19 พร้อมจ่ายปันผลหุ้นละ 0.20 บาท รวมจ่าย 331 ล้านบาท

นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) เปิดเผยว่าในปี 2563 บริษัทยังสามารถดำเนินการโครงการตามสัญญาก่อสร้างได้ตามแผนกลยุทธ์การมุ่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานหลากหลาย โดยผนึกกำลังของบริษัทต่างๆในเครือทั้ง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM), บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) (TTW) และ บริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP) ส่งผลให้บริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ไม่มากนักเพราะธุรกิจการลงทุนและสามารถสร้างกระแสรายได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเสริมธุรกิจก่อสร้าง มั่นใจในความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลงานโครงการสาธารณูปโภคใหม่ต่างๆของภาครัฐทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่คาดว่าจะกลับมาเดินหน้าตามแผนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย

อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมียอดรอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่า 29,109 ล้านบาท มีผลงานโครงการที่สร้างเสร็จสมบูรณ์และส่งมอบแล้ว ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย สัญญา6 บริหาร จัดหา ติดตั้งอุปกรณ์งานระบบ โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน - นครราชสีมา สัญญาที่ 3 โครงการปรับปรุงทางพิเศษสายศรีรัช -วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ และซ่อมแซมโครงสร้างทางพิเศษศรีรัช  โครงการงานปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ระบบผลิตและส่งจ่ายน้ำประปา โรงผลิตน้ำประปาบางเลน(ระยะที่ 1)  เป็นต้น

ขณะที่ ในปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 18,442 ล้านบาท กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน612 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 8.39% นอกจากนี้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ยังได้พิจารณาอนุมัติการจัดสรรเงินกำไร โดยจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท รวมเป็นเงิน331,579,374.40 บาท โดยมีกำหนดในการจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564

"สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงปี 2563 ไม่ได้ส่งผลกระทบทางตรงต่อการดำเนินงานโครงการก่อสร้างที่บริษัทดำเนินอยู่ และมีผลกระทบต่อการลงทุนบางส่วนแต่เป็นการชั่วคราว  บริษัทมีแผนบริหารความเสี่ยงและแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ Business Continuity Plan (BCP) ที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินธุรกิจทั้งในโครงการก่อสร้างและสำนักงานใหญ่ พร้อมแนวปฏิบัติในการดูแลความปลอดภัยสุขอนามัยตามมาตรฐานและแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด กลยุทธ์การมุ่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานหลากหลายทำให้บริษัทได้รับผลกระทบด้านรายได้น้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น"

นอกจากนี้ สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กระทบต่อการประมูลโครงการใหญ่บางโครงการซึ่งมีผลต่อการประมูลงานใหม่ของบริษัทและทำให้ปริมาณงานในมือและรายได้ในปี 2563 ลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจว่าในปี 2564 ภาครัฐจะเร่งเปิดประมูลโครงการต่างๆเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 โดยบริษัทมีความพร้อมเดินหน้าเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆเต็มที่โครงการที่บริษัทให้ความสำคัญ คือ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก มูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 77,000 ล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง มูลค่า 60,000 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ที่ผ่าน EIA แล้ว 3 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท 

โครงการแนวมอเตอร์เวย์ นครปฐม – ชะอำ มูลค่า 61,000 ล้านบาท โครงการแนวมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน – บ้านแพ้ว มูลค่า 10,500 ล้านบาท เป็นต้น สำหรับในต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาสรุปแผนการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว กำลังการผลิตระหว่าง 1,000-1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้เงินลงทุนราว 135,000 ล้านบาท รวมเป็นโครงการที่เตรียมเข้าประมูลมูลค่ากว่า 700,000 ล้านบาท