เมื่อเกินครึ่งของ 'แรงงานไทย' อยู่นอกระบบ โควิด ปัจจัยเร่ง 'อาชีพอิสระ'

30 เม.ย. 2564 | 09:58 น.

วันแรงงานไทย 2564 นักวิชาการเผย เฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง พบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ มีสัดส่วนสูง 55 – 65 % ของแรงงานทั้งระบบ ขณะวิกฤติโควิด ปัจจัยเร่งตัดสินใจ เป็นเจ้านายตัวเอง แนะรัฐหนุนภาคธุรกิจแห่งอนาคต รับความเปลี่ยนแปลง

ผศ.ดร. เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาวิจัยเรื่องแรงงานนอกระบบในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี กล่าวถึงนิยามของคำว่า แรงงานนอกระบบ (Informal Sector) หมายถึง กลุ่มคนที่ทำงานอิสระ ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน เช่น ไม่มีสัญญาจ้างงาน หรือ ประกันสังคม 

ดังนั้น แรงงานนอกระบบจึงไม่ได้วัดกันที่รายได้หรือประเภทของงาน ผู้ประกอบการที่เปิดกิจการของตนเองก็ถือว่าเป็นแรงงานนอกระบบ ในทางกลับกัน แม้พนักงานที่อยู่ในโรงงานหรือบริษัทแต่นายจ้างไม่ได้ทำประกันสังคมให้ ก็จัดว่าลูกจ้างอยู่นอกระบบ ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เรื่องนี้ถูกตีแผ่ออกมาจำนวนมากว่า มีหลายบริษัทไม่ได้ทำประกันสังคมให้ลูกจ้าง จึงไม่ได้รับเงินชดเชยจากการว่างงาน โดยตัวเลขเฉลี่ยกว่า 10 ปีที่ผ่านมาของสัดส่วนแรงงานนอกระบบในประเทศไทย คงที่อยู่ระหว่าง 55 – 65 % ของแรงงานโดยรวม 

ผศ.ดร. เจสสิกา มีมุมมองต่อแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนเกินครึ่งค่อนประเทศว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ทำให้เกิดแรงงานนอกระบบโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เนื่องจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่ดั้งเดิม มีการทำงานเฉพาะฤดูเพาะปลูก ช่วงเว้นว่างจากนั้นก็ไปรับจ้างหรือทำอาชีพเสริมอื่น ๆ ทำให้คนไทยรู้จักยืดหยุ่นและไม่ชอบอะไรที่ล็อคตัวเองมากเกินไป หรือเกิดขึ้นจากค่านิยมบางประการ

เมื่อเกินครึ่งของ 'แรงงานไทย' อยู่นอกระบบ  โควิด ปัจจัยเร่ง 'อาชีพอิสระ'  

เช่น การให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นหลัก แรงงานผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เคยมีหน้าที่การงานดีในบริษัท ตัดสินใจลาออกจากงาน เมื่อมีลูกหรือดูแลพ่อแม่ที่อายุมาก คนเหล่านี้ไม่ได้หยุดงานถาวรแต่หาอาชีพเสริมอื่นแทน ยุคนี้ก็หันมาค้าขายออนไลน์ ก็ถือเป็นการผันตัวออกมาอยู่นอกระบบ

“ยกตัวอย่างอาชีพแม่บ้านทำความสะอาดที่เคยสัมภาษณ์ในงานวิจัย แม่บ้าน 2 คนทำงานเหมือนกันทุกประการ คนหนึ่งทำงานรับใช้ในบ้านจึงนับว่าเป็นแรงงานนอกระบบ ส่วนอีกคนเป็นลูกจ้างในโรงแรมถือเป็นแรงงานในระบบ เมื่อไปสอบถามแม่บ้านที่ทำงานที่บ้านว่าอยากย้ายไปโรงแรมไหม คำตอบคือ ไม่ เพราะด้วยความคุ้นชิน ความยืดหยุ่น ไม่ต้องเข้างานตามเวลาออฟฟิศ ทำให้รู้สึกสบายใจกว่า แม้การย้ายงานไปที่โรงแรมจะได้เงินเดือนเยอะกว่าก็ตาม” ผศ.ดร. เจสสิกากล่าว

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงการปรับตัวในการทำงานของคนไทย แม้ว่าช่วงที่หนักหนาที่สุดในไตรมาส 2 ปี 2563 มีคนตกงานถึง 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% ต่อกำลังแรงงานรวม ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 11 ปี แต่ยังถือว่าต่ำติดอันดับโลก 

เมื่อเกินครึ่งของ 'แรงงานไทย' อยู่นอกระบบ  โควิด ปัจจัยเร่ง 'อาชีพอิสระ'

ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีอัตราการว่างงานสูงถึง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน เหตุผลหลักสำคัญคือ การเริ่มต้นประกอบกิจการในประเทศไทยทำได้ง่าย มีข้อจำกัดน้อย (Low Barrier to Entry) เมื่อต้องออกจากงานภาคการท่องเที่ยว ก็กลับบ้านเกิดและตั้งต้นหาอาชีพใหม่ได้อย่างรวดเร็ว หากอยากเปิดร้านอาหารก็ทำได้ทันที ต่างจากที่สหรัฐอเมริกา ต้องมีใบอนุญาตขอประกอบกิจการและมีกฎระเบียบอีกมากมาย เมื่อคนตกงานจากโควิด-19 โอกาสได้งานใหม่แทบจะเป็นศูนย์ รัฐบาลสหรัฐจึงต้องใช้วิธีให้เงินช่วยเหลือโดยตรง 

“ช่วงโควิด-19 ปีที่แล้ว มีคนบุรีรัมย์บอกว่าในตัวเมืองมีความคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนกลับบ้านไปลองเริ่มต้นอาชีพใหม่ที่พอทำได้ ตั้งร้านขายของในตลาด หรือรับจ้างรายชั่วโมง”

ข้อดีของประเทศไทยคือการให้คนเริ่มตั้งตัวทำงานได้ในต้นทุนที่ต่ำ แต่ก็มีความเสี่ยงที่ต้นทุนจะสูงขึ้นทันที หากมีกฎระเบียบใหม่เกิดขึ้นกระทันหันอย่างการประกาศปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดหรือการจัดระเบียบพื้นที่  ในขณะเดียวกันต้องดูในเชิงคุณภาพด้วย ปริมาณการมีงานทำสูงก็จริง แต่คุณภาพงานหรือจำนวนชั่วโมงการทำงานยังต่ำ รายได้ของคนมีงานทำอาจจะต่ำจนไม่พอยังชีพ เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ต้องพัฒนาทักษะแรงงานให้ก้าวไปสู่การทำงานที่มูลค่าสูงขึ้น 

คุณภาพชีวิตของแรงงานไม่ได้วัดแค่ว่าอยู่ในหรือนอกระบบ “การอยู่ในระบบ” ทุกวันนี้ไม่ได้การันตีว่าจะมีข้อได้เปรียบกว่าในระยะยาว เนื่องจากสวัสดิการยามเกษียณของรัฐอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่เพียงพอที่จะเป็นที่พึ่งพิงยามยากเพียงทางเดียว จึงเป็นอีกเหตุผลให้คนตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะลองออกมาเป็นแรงงานนอกระบบดูสักครั้ง แต่ปัญหาที่เป็นความท้าทายที่สุดในมุมมองของ 

ผศ.ดร. เจสสิกา คือตลาดแรงงานที่ไม่ตรงกับความรู้ของเด็กไทย (Education - Occupation Mismatch) ในอีกมุมหนึ่ง เด็กไทยเรียนสูงเกินไปกว่าตำแหน่งงานที่รองรับและนายจ้างจะจ่ายไหว โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมยานยนต์ยังขาดแคลนแรงงานอยู่มากแต่ไม่มีคนอยากทำ เมื่อเด็กจบใหม่ไม่มีงานรองรับก็ต้องสร้างงานขึ้นมาด้วยแต่เองซึ่งก็มีคนที่ประสบความสำเร็จจำนวนไม่น้อย แต่หากอยากเพิ่มจำนวนแรงงานในระบบให้มากขึ้น รัฐต้องผลักดันภาคธุรกิจแห่งอนาคตที่ยังเป็นความหวังและเหมาะกับบริบทประเทศไทยนั่นก็คือ ภาคบริการที่ใช้ทักษะสูง อาทิ ด้านการแพทย์ ท่องเที่ยว การเงิน เป็นต้น 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 
'วันแรงงานไทย' นักวิชาการเสนอ 3 ข้อ แก้สิทธิพื้นฐาน