บัตรเครดิต ปี 2564...จ่ายขั้นต่ำมากขึ้น หลังโควิดกระทบหลายรอบสินเชื่อ

30 เม.ย. 2564 | 09:51 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตไตรมาสแรกของปี 2564 พบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกือบ 80%เลือกผ่อนชำระคืนบางส่วนสูงกว่าผลสำรวจปีก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตไตรมาสแรกของปี 2564  พบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกือบ 80%เลือกผ่อนชำระคืนบางส่วนสูงกว่าผลสำรวจปีก่อน-  ขณะที่ประมาณ 48% ของกลุ่มตัวอย่างที่เข้ามาตรการช่วยเหลือในรูปของการผ่อนผันภาระผ่อนชำระต่อเดือนลง สะท้อนสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด 19 ที่ยืดเยื้อ เพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ถือบัตรกลุ่มนี้เผชิญความยากลำบากที่จะปลดหนี้

 

•         ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เนื่องจากบัตรเครดิตมีสถานะเป็นเครื่องมือในการชำระค่าบริการและสินค้าแทนเงินสด ดังนั้นเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอตัวจึงส่งผลทำให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรและสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวลดลงตาม

•         ขณะเดียวกัน ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในไตรมาสที่ 1/2564 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างถึง 80% มักเลือกที่จะผ่อนชำระรายเดือนบางส่วน ซึ่งนอกจากจะสะท้อนความเปราะบางทางการเงินของลูกหนี้ในช่วงโควิด 19 แล้ว ยังทำให้โจทย์ทางธุรกิจของผู้ให้บริการบัตรเครดิตมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีการเร่งดูแลพอร์ตลูกหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ในเชิงรุก ตลอดจนการขยายกรอบระยะเวลาการเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ของธปท. จนถึง 30 มิ.ย. 2564 อาจมีส่วนช่วยปรับปรุงสถานะทางการเงินของลูกหนี้และบรรเทาแรงกดดันต่อปัญหาคุณภาพหนี้บัตรเครดิตในภาพรวมลงบางส่วน

•         ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาในปี 2564 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สินเชื่อบัตรเครดิตของระบบ (รวมทั้ง Bank และ Non-Bank) ในปี 2564 จะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยคาดว่า สินเชื่อบัตรเครดิตอาจจะทรงตัวหรือมีโอกาสหดตัวลงเล็กน้อยประมาณ 1.0% เทียบกับที่หดตัวลง 1.6% ในปี 2563 ที่ผ่านมา

ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตได้รับผลกระทบครั้งใหญ่จากสถานการณ์โควิด 19 ที่แพร่ระบาดตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องหลายระลอก โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรชะลอตัวในลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มลูกค้าระดับกลางบนและบนที่ถูกกระทบด้วยมาตรการจำกัดการเดินทางและรักษาระยะห่างทางสังคม ส่วนลูกค้าระดับกลางล่างและล่างบางส่วนถูกกระทบจากรายได้ที่ลดลง ประกอบกับมีการปรับลดรายจ่ายบางส่วนลง นอกจากนี้การที่ลูกค้าส่วนใหญ่ถือบัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ ยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผู้ให้บริการต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้เป็นบัตรหลักที่ลูกค้าเลือกใช้ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการความเสี่ยงของหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของผู้ให้บริการที่เป็นธนาคารชะลอตัวลงแรงกว่าผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านความแตกต่างของกลุ่มลูกค้า กล่าวคือ ภาพรวมลูกค้าบัตรของผู้ให้ให้บริการที่เป็นธนาคาร (หรือกรณีลูกค้ามีหลายบัตรแต่เลือกใช้บัตรธนาคารเป็นหลัก) เป็นกลุ่มที่มีฐานรายได้เฉลี่ยสูงกว่าและมีรายจ่ายด้านไลฟ์สไตล์มาก จึงถูกกระทบมากจากการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการภายใต้สถานการณ์โควิด 19 อาทิ การท่องเที่ยว บริการด้านการบิน ที่พักแรมและโรงแรม นอกจากนี้โครงสร้างของพอร์ตลูกค้าดังกล่าวยังส่งผลทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตของผู้ให้บริการที่เป็นธนาคารเผชิญแรงกดดันจากการชำระคืนและการลดลงของการเบิกเงินสดล่วงหน้า แต่ก็จะยังคงสามารถบริหารจัดการสัดส่วน NPL ให้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำได้ 

 

บัตรเครดิต ปี 2564...จ่ายขั้นต่ำมากขึ้น หลังโควิดกระทบหลายรอบสินเชื่อ

ด้วยสถานการณ์โควิด 19 ที่กลับมาแพร่ระบาดรุนแรงอีกครั้งในปีนี้ ทำให้ประเด็นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ให้บริการแต่ละรายจำเป็นต้องหากลยุทธ์เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายผ่านบัตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อประคองรายได้ท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของเครื่องมือการชำระเงินอื่น โดยเฉพาะบัตรเดบิต อีมันนี่ และอีวอลเล็ต ในขณะที่ยังต้องมุ่งบริหารจัดการความเสี่ยงของคุณภาพหนี้ไปพร้อมกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตต่อแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2564 ดังนี้

     แนวโน้มสินเชื่อบัตรเครดิตของระบบ (รวมทั้ง Bank และ Non-Bank) อาจยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยคาดว่า สินเชื่อบัตรเครดิตของระบบจะทรงตัวหรือมีโอกาสหดตัวลงเล็กน้อยประมาณ 1.0% ในปี 2564 เทียบกับที่หดตัวลง 1.6% ในปี 2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้แม้ผลกระทบจากโควิด 19  (รวมถึงมาตรการผ่อนผันการจ่ายขั้นต่ำในอัตรา 5%  ของทางการในปี 2563-2564) ทำให้ลูกค้าหันมาผ่อนชำระแค่บางส่วนมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการดันยอดคงค้างของสินเชื่อบัตรเครดิต แต่ก็มีผลอีกด้านหนึ่งที่กดดันสินเชื่อบัตรเครดิตได้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะผลที่เกิดจากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสัญญาณซบเซาของเศรษฐกิจ ตลอดจนมาตรการความช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตที่เปิดโอกาสให้ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ เปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาวสูงสุดถึง 4 ปี ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ 12%  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 นี้ พบว่า การเลือกจ่ายขั้นต่ำได้ในยามที่ขาดสภาพคล่องเป็นเหตุผลอันดับต้นๆ ของการเลือกใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต  และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกือบ 80% ในผลสำรวจฯ รอบนี้ ก็เลือกที่จะผ่อนชำระคืนบางส่วนด้วย โดยสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าผลสำรวจฯ ปี 2562 (ก่อนโควิด 19) ที่มีสัดส่วนของผู้ที่ผ่อนชำระบางส่วนราว 63.8% เท่านั้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจฯ ปี 2564 ยังพบว่า ประมาณ 48% ของกลุ่มตัวอย่างลูกหนี้บัตรเครดิตที่เข้ามาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเลือกที่จะขอรับความช่วยเหลือในรูปของการผ่อนผันภาระผ่อนชำระต่อเดือนลง ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลสำรวจฯ ปี 2564 นี้ อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด 19 ที่ยืดเยื้อ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ถือบัตรกลุ่มนี้เผชิญความยากลำบากที่จะปลดหนี้ได้ อย่างไรก็ดี หากมองในภาพรวมก็จะพบว่า ลูกค้ากลุ่มที่มีศักยภาพการชำระหนี้สูง ซึ่งแม้จะมีสัดส่วนน้อยกว่า แต่มีอำนาจซื้อและมีการใช้จ่ายต่อเดือนสูง ทำให้ประมาณ 75% ของปริมาณการใช้บัตรรวมในแต่ละปียังมีการชำระคืนเต็มจำนวน

อ่านฉบับเต็ม :