"พรรคกล้า"ชง 5 ข้อเสนอ“เยียวยาร้านอาหาร”ที่ห้ามลูกค้านั่งทาน

30 เม.ย. 2564 | 08:31 น.

"พรรคกล้า"แถลงการณ์ 5 ข้อ เสนอรัฐบาลเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร จำกัดค่าธรรมเนียม Delivery-ช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงาน 50%- งดจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการ , ผ่อนผันชำระหนี้-ดอกเบี้ยเงินกู้, ลดค่าเช่า 

พรรคกล้า ออกแถลงการณ์ข้อเสนอ 5 ข้อเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร หลังจากรัฐมีมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านในพื้นที่ 6 จังหวัดสีแดงเข้ม โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ โดย 

1. ควรเร่งเจรจากับ Platform online ที่ร้านอาหารทั้งหลายใช้เป็นช่องทางขายและจัดส่งอาหารอยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้คิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการหรือ GP เกินร้อยละ 15 อย่างน้อยก็ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการและประชาชน 

2.รัฐควรช่วยเหลือเยียวยาค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานในร้านอาหารเหล่านี้ร้อยละ 50 ในช่วงที่รัฐบาลประกาศห้ามมีลูกค้านั่งในร้านอาหาร 

3. งดการจัดเก็บภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง 

4..ผ่อนผันการผ่อนชำระเงินกู้และดอกเบี้ยของผู้ประกอบการร้านอาหาร ด้วยมาตรการงดผ่อนต้นผ่อนดอก ไปอีกอย่างน้อย6เดือน 

และ 5. ในกรณีที่ร้านอาหารมีค่าเช่าพื้นที่ เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า เจ้าของพื้นที่ควรลดค่าเช่าให้ด้วย อย่างน้อยร้อยละ 50 และเจ้าของพื้นที่สามารถนำส่วนลดที่ให้กับร้านอาหารเหล่านั้น ไปขอลดหย่อนภาษีจากทางรัฐบาลได้ ในรอบบัญชีถัดไป เพื่อเป็นการชดเชยและลดค่าใช้จ่ายให้ร้านอาหารที่ต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน 

                                          "พรรคกล้า"ชง 5 ข้อเสนอ“เยียวยาร้านอาหาร”ที่ห้ามลูกค้านั่งทาน

นายวรวุฒิ อุ่นใจ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า เพื่อป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อโควิค-19 ก็พอเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องออกคำสั่งไม่ให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารที่ร้าน แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ มาตรการเยียวยาช่วยเหลือด้วย เพราะร้านอาหารเหล่านี้อยู่ในสภาพใกล้ปิดกิจการเต็มทีแล้ว ถ้ารัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือคงมีผู้ประกอบการล้มหายตายจากกันไม่น้อยแน่ 

"มาตรการทั้ง 5 ข้อที่พรรคกล้านำเสนอนี้ สามารถแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีความเดือดร้อนอยู่หลายแสนรายได้ ไม่ให้ต้องปิดกิจการ และอยู่บริการสังคมในช่วงโควิดได้ตลอดรอดฝั่ง แต่หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือ จะสร้างคำถามมากมายจากผู้ประกอบการ ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้าเชื่อฟังคำสั่งรัฐบาล" นายวรวุฒิ กล่าว