วิจัยกรุงศรี ฟันธงธุรกิจผลิตไฟฟ้าในไทยปี 64 -66 เติบโต

30 เม.ย. 2564 | 08:22 น.

วิจัยกรุงศรี ประเมินธุรกิจผลิตไฟฟ้าเอกชนปี 64 - 66 แนวโน้มเติบโต ผลจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้น ขณะที่การแข่งขันของผู้ประกอบการคาดรุนแรงเพราะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามารุกในธุรกิจมากขึ้น

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่องแนวโน้มธุรกิจ -อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า โดยประเมินว่าในปี 2564-2566 ธุรกิจผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามความต้องการใช้ที่มีทิศทางเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ และด้านอุปทานจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนภาครัฐตามแผน PDP 

 

ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 2.8-3.8% ต่อปี  ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หนุนความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนยังเติบโตต่อเนื่อง จากมาตรการ Work from home เป็นระยะ โดยเฉพาะในปี 2564

 

ส่วนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับปี 2561-2580 (PDP 2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เอื้อให้ภาคเอกชนขยายกำลังการผลิตและเพิ่มการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ โดยมีประเด็นสำคัญคือ

 

การกำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่ 56,431 เมกะวัตต์  ได้แก่


(1) กำหนดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ระดับเดิม 53% ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2580
(2) ปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเป็น 21% จากเดิม 20% 
(3) ปรับลดสัดส่วนการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ 11% จากเดิม 12%

 

PDP2018 และแผน AEDP2018 เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยกำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตโดยภาคเอกชนจำนวน 18,696 เมกะวัตต์ภายในปี 2580 แบ่งเป็น


(1) โรงไฟฟ้าตามนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ 520 เมกะวัตต์ ปี 2565–2567  กำหนดให้ภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะรวม 400 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า ชีวมวลประชารัฐภาคใต้รวม 120 เมกะวัตต์ 


(2) โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2018) กำลังการผลิตรวม 18,176 เมกะวัตต์ (ปี 2563-2567 รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน และ Solar hybrid รวม 1,933 เมกะวัตต์ และปี 2565-2567 รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม 270 เมกะวัตต์) 


ปี 2567 เป็นต้นไป ประมาณการค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 3.64 บาทต่อหน่วย จากแผนเดิมที่ 3.58 บาทต่อหน่วย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งรัฐกำหนดราคารับซื้อเบื้องต้นที่อัตรา 3-5 บาทต่อหน่วย เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวข้างต้นจะเอื้อประโยชน์ให้เกิดการลงทุนใหม่ของโรงไฟฟ้าเอกชนทั้ง 3 กลุ่ม ดังนี้


โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) คาดจะมีการเปิดประมูลหลายแห่งในระยะข้างหน้า โดยภาครัฐมีแผนเปิดประมูลโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ต่อปีในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศช่วงปี 2564-2565 เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่จะทยอยหมดอายุสัญญาและต้องออกจากระบบในช่วงปี 2568-2570 จำนวน 8,300 เมกะวัตต์


โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) มีแนวโน้มขยายกำลังการผลิตและลงทุนก่อสร้างใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติระบบ Cogeneration ซึ่งจะทยอยสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2562-2568[7] และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสานเชื้อเพลิงที่เรียกกว่า SPP hybrid firm ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในอัตรารับซื้อ (FiT) 3.69 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจาก 3.66 บาทต่อหน่วยในปี 2562 โดยมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี


โรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) คาดว่าการลงทุนจะเติบโตเร่งขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป โดยเฉพาะโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาภาคประชาชน (Solar rooftop) โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล (รัฐมีแผนรับซื้อจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ต่อปี และโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ต่อปี) 


ก๊าซชีวภาพ (รัฐมีแผนรับซื้อจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากพืชพลังงานกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ต่อปี) และขยะ (นโยบายการส่งเสริมภาครัฐปี 2561-2580 มีแผนรับซื้อจำนวน 400 เมกะวัตต์) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ภาครัฐจะทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าตามแผน PDP และ AEDP นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการแข่งขันทั้งด้านต้นทุนและแหล่งวัตถุดิบ 


สำหรับโครงการพลังงานลม ภาครัฐจะทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 270 เมกะวัตต์ในช่วงปี 2565-2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดว่า EGAT จะลงทุนขยายสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้เสร็จสมบูรณ์
 

วิจัยกรุงศรี ประเมินว่าภาวะการแข่งขันของธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ผลจากการเข้ามาลงทุนต่อเนื่องของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ เนื่องจากแผน PDP ล่าสุด กำหนดให้ต้องมีโรงไฟฟ้าหลักในภาคที่มีความพร้อมด้านสายส่งไฟฟ้า และเปิดโอกาสรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนโดยเฉพาะเชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียน ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ (กลุ่ม IPP/SPP) ที่มีศักยภาพด้านการเงินและเทคโนโลยีมีแนวโน้มเข้ามาขยายกำลังการผลิตและลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่จากพลังงานหมุนเวียน 


ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างงานวิศวกรรม/จัดหาออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งมีความชำนาญงานด้านติดตั้งระบบไฟฟ้า และกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์/เทคโนโลยีโซล่าร์เซลล์ ต่างมีแผนแตกไลน์ธุรกิจมาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน ทำให้การแข่งขันมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ซึ่งต้องประมูลแข่งขันด้านราคา (Competitive bidding) จึงอาจกดดันการทำกำไรของธุรกิจอยู่บ้าง


ขณะที่ความท้าทายในอนาคตของธุรกิจผลิตไฟฟ้ามาจากการใช้นวัตกรรม/เทคโนโลยีการผลิตเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนชนิดต่างๆ ทั้งด้านประสิทธิภาพการผลิต การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านต้นทุน อาทิ


(1) เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีราคาถูกลง ทำให้สามารถแข่งขันด้านราคากับไฟฟ้าที่มาจากแหล่งผลิตอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน อาคารสำนักงาน หรือโรงงาน


(2) การลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi solid จะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (อาทิ แสงอาทิตย์ ลม และ Hybrid) 


(3) การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Storage System: ESS) ทำให้การจัดเก็บและการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยในปัจจุบัน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ร่วมกับ บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC พัฒนาระบบ ESS เพื่อเพิ่มความมั่นคงและเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้าให้แก่อาคารสำนักงานและศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีในจังหวัดระยอง รวมถึงโครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะ (Smart city) ของสถาบันวิทยสิริเมธี


นอกจากนี้ นโยบายที่เปิดกว้างให้ภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น ในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน (Private Power Purchase Agreement) ทำให้ผู้บริโภคสามารถผลิตและขายไฟฟ้าเอง (Prosumer) โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งต้นทุนการผลิตในปัจจุบันมีราคาน้อยกว่า 2 บาทต่อหน่วย เทียบกับ 6-7 บาทต่อหน่วยปี 2559 จึงคาดว่าจะจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น


แม้ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาทางเทคนิคที่ต้องแก้ไข เช่น ผลกระทบจากความไม่สม่ำเสมอของกระแสพลังงานที่ผลิตได้ต่อระบบการจำหน่ายไฟฟ้า ปัญหาการจัดเก็บพลังงาน ทั้งยังต้องปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับกลุ่ม Prosumer และระบบที่เกี่ยว ข้องอื่น ๆ เช่น การซื้อขายและการบริหารจัดการผู้ใช้ไฟฟ้า

 

ที่มา:วิจัยกรุงศรี