ธปท. เปิด 14รายชื่อนำร่องใช้ระบบฐานข้อมูลกลาง “ดิจิทัลแฟ็กเตอริง” สแกนคำขอสินเชื่อซ้ำซ้อน

28 เม.ย. 2564 | 10:19 น.

ธปท. เปิด 14รายชื่อนำร่องใช้งานระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อจัดเก็บข้อมูลใบแจ้งหนี้ ช่วยตรวจสอบการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน หนุนผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงอนุมัติวงเงินเพิ่มสภาพคล่องกับ SMEs โดยเฉพาะรายย่อย

ธปท. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับการให้บริการดิจิทัลแฟ็กเตอริง โดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูล ในส่วนที่สำคัญของใบแจ้งหนี้ และช่วยตรวจสอบการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงในการพิจารณาให้สินเชื่อกับ SMEs โดยเฉพาะรายย่อย


ธปท. เปิด  14รายชื่อนำร่องใช้ระบบฐานข้อมูลกลาง “ดิจิทัลแฟ็กเตอริง” สแกนคำขอสินเชื่อซ้ำซ้อน

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. เห็นถึงความสำคัญของธุรกรรมแฟ็กเตอริงหรือการนำใบแจ้งหนี้ที่ผู้ขายสินค้าออกให้แก่ผู้ซื้อและอยู่ระหว่างรอชำระเงินไปขอสินเชื่อ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการช่วยให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเข้าถึงธุรกรรม แฟ็กเตอริงของ SMEs ยังจำกัด เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารทางการค้า และการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (Double Financing) จากการนำใบแจ้งหนี้ (Invoice) รายการเดียวกันไปใช้ขอสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงหลายราย

ด้วยเหตุผลข้างต้น ธปท. จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับการให้บริการดิจิทัลแฟ็กเตอริง โดยองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนให้มีธุรกรรมแฟ็กเตอริงเพิ่มขึ้นในระบบการเงิน คือ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูล ในส่วนที่สำคัญของใบแจ้งหนี้ และช่วยตรวจสอบการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงในการพิจารณาให้สินเชื่อกับ SMEs โดยเฉพาะรายย่อย

ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้สื่อสารและรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำมาพิจารณาออกแบบและพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง รวมทั้งได้เปิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมแฟ็กเตอริง เข้าร่วมทดสอบระบบ ปัจจุบัน ธปท. เปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงและผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมแฟ็กเตอริง ทั้งสถาบันการเงินและหน่วยงานที่มิใช่สถาบันการเงินเข้าใช้งานระบบฐานข้อมูลกลาง (Central Web Service: CWS) แล้วตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2564 โดย ธปท. รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลและดำเนินงานระบบฐานข้อมูลกลางในระยะแรก เพื่อให้มั่นใจว่าระบบฐานข้อมูลดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียงพอ พร้อมกันนี้ ธปท. ได้ออกแนวปฏิบัติ ธปท. เรื่อง การใช้ระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อใช้เป็นกรอบหลักเกณฑ์ให้ผู้ใช้งานระบบฐานข้อมูลกลางถือปฏิบัติในการใช้งานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2564

ปัจจุบันระบบฐานข้อมูลกลางมีผู้ใช้งานแล้ว 4 ราย ได้แก่ (1) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (2) บริษัท ดีไนน์ตี้ แคปปิตอล จำกัด (3) บริษัท บิลมีเวนเจอร์ จำกัด และ (4) บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ็กซ์เพรสซอฟท์แวร์กรุ๊ป จำกัด

        

นอกจากนี้ มีผู้แจ้งความประสงค์จะเข้าใช้งานระบบฐานข้อมูลกลางเพิ่มเติมแล้วอีกจำนวน 10 ราย ได้แก่ (1) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (2) บริษัท อินเวสทรี (ไทยแลนด์) จำกัด (3) บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด (4) บริษัท โปรเฟสชั่นนัล คอมพิวเตอร์ จำกัด (5) ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) (6) ธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) (7) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) (8) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (9) บริษัท เอส แคปปิตอล จำกัด และ (10) บริษัท ดาต้าวัน เอเชีย (ประเทศไทย) จํากัด

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงและผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมแฟ็กเตอริง ที่ประสงค์จะใช้งานระบบฐานข้อมูลกลางสามารถยื่นความประสงค์มายัง ธปท. ก่อนเริ่มใช้งานระบบ โดยสามารถดูเอกสารประกอบการสมัครใช้งานระบบได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th/DigitalFactoring และรายละเอียดแนวปฏิบัติ ธปท. เรื่อง การใช้ระบบฐานข้อมูลกลาง ได้ที่ www.bot.or.th/DigitalFactoring.pdf SMEs ที่ประสงค์จะขอสินเชื่อแฟ็กเตอริงสามารถติดต่อผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงและผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมแฟ็กเตอริงได้โดยตรง ทั้งนี้ สามารถติดตามรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจและผู้ให้บริการระบบดังกล่าวที่เข้าใช้งานระบบฐานข้อมูลกลางได้ที่ www.bot.or.th/DigitalFactoring.name