“ศาลปกครอง” งัดข้อ “ศาล รธน.” “Go so Big”

28 เม.ย. 2564 | 07:30 น.

“ศาลปกครอง” งัดข้อ “ศาล รธน.” “Go so Big” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3674 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-1 พ.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ใครที่คาดคิดว่าคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาท มีสิทธิ์พลิกกลับ มาเป็นรัฐไม่ต้องจ่ายเงินแบบ 360 องศา โปรดพิจารณากันให้ดีๆ ผมขอบอกว่า คดีนี้มีเดิมพันที่คนไทยต้องแลกมาหลายอย่างมาก

ไม่ว่าออกหัว-ออกก้อย ประเทศ ไทยจะต้องแลกด้วย “ชื่อเสียง-ศรัทธา” ว่าด้วยจุดจบแห่งความยุติธรรม 

ไม่ว่าออกหัว-ออกก้อย ขอบเขตอำนาจของ “ศาลปกครอง-ศาลยุติธรรม - ศาสรัฐธรรมนูญ -ศาลต้านโกง” คงต้องมีการขีดเส้นกันใหม่

ไม่ว่าจะออกหัว-ออกก้อย คำตัดสินในคดีนี้ต้องมี “คนได้เงินก้อนโต” จากที่ลงแรงลงทุนค้าความไว้แน่นอน 

แต่จะมีใครแบ่งออกไปบ้างตามรายทางนั้น อันนี้ผมม่ายรู้ แต่น่าจะมีบางคนรู้แหละน่า เพราะคดีนี้ผู้ที่ต่อสู้ต้องใช้ “กำลังภายนอก-กำลังภายใน” เต็มรูปแบบ

ผมเขียนบทความไว้ตอนที่แล้วว่า มติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ที่ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันที่ 27 พ.ย. 2545 ที่เป็นระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 44 กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่งนั้น ถือว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197  

นั่นอาจนำมาซึ่งการเริ่มนับอายุความคดีปกครองในคดีคดีโฮปเวลล์ใหม่ เนื่องจากมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 นั้น กำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่  คือ “วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ” ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 แตกต่างจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 51 ที่บัญญัติว่า ให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่ “วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” 

ผมบอกไปว่า มีผู้พิพากษาศาลปกครองอย่างน้อย 2 คนบอกกับผมว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับคดีโฮปเวลล์ที่สิ้นสุดไปแล้ว 

หากแต่เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักการของกฎหมายเท่านั้นว่า “ให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”

ดังนั้น คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดที่เห็นชอบตามคำตัดสินของอนุญา โตตุลาการ ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดร่วม 2.47 หมื่นล้านบาท ยังมีผลอยู่... 

ก่อนจะไปดูรายละเอียด ผมพามาดูคำวินิจฉัยหรือความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แตกเป็น 2 ข้าง ด้วยคะแนน (5:2) กรณีมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2544เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 

คดีนี้มีความน่าสนใจทั้งในแง่ของสถานะมติของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด กับการตีความหรือให้ความหมายในเรื่องของ “#ระยะเวลาการฟ้องคดี” กับ “#อายุความในการฟ้องคดี” ว่าแตกต่างกันอย่างไร 

ตุลาการเสียงข้างมาก (5เสียง) ประกอบด้วย (1) นายทวีเกียติ มีนะกนิษฐ (2) นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (3) นายวิรุฬห์ แสงเทียน (4) นายจิรนิติ หะวานนท์ (5) นายนภดล เทพพิทักษ์ มีมติว่า มติของที่ประชุมใหญ่ดังกล่าว เป็นการขยายระยะเวลาการฟ้องคดีให้แตกต่างไปจากมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ทั้งมีเจตนาให้การพิจารณาคดีอื่นต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงต้องออกเป็นระเบียบ ฯ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ตามมาตรา 6 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่ได้ดำเนินการจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ 

ขณะที่ ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย (2 เสียง) คือ นายปัญญา อุดชาชน และ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ได้วินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าว มีสถานะทางกฎหมายเป็นการกระทำทางตุลาการที่มีลักษณะเป็นนิติกรรมทางตุลาการ (Acte Juridictionnel) เพื่อชี้ขาดข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่การออกระเบียบ ทั้งมติดังกล่าว ไม่ได้มีผลผูกมัดทุกคดีว่าต้องนำมาใช้ เพราะเป็นดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาของแต่ละองค์คณะ เห็นได้จาก ในคดีเดียวกันนี้ในศาลปกครองชั้นต้น คดีหมายเลขดำที่ อ. 410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 221-223/2562 องค์คณะศาลปกครองกลางก็มิได้นำมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวมาใช้ มติที่ประชุมใหญ่จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 

เห็นเค้าลางของความเห็นในข้อกฎหมายกันแล้วบ่พี่น้อง

ประเด็นจึงน่าสนใจว่าหากกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ซึ่งจะต้องยื่นภายใน 90 วัน หลังจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 แล้ว คือต้องยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายใน 15 มิถุนายน 2564 ต่อศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองกลาง 

ความท้ายทายจะอยู่ที่ว่า ศาลปกครองกลาง จะรับคำขอให้พิจารณาใหม่หรือไม่?

ทำไมนะหรือ เพราะมติศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่ผมหยิบยกมาเป็นที่น่าสนใจว่า ศาลปกครองจะพิจารณาสอดคล้องกับความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 2 เสียง ที่ว่าการวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในคดีโฮปเวลล์เป็นการกระทำทางตุลาการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรองรับไว้หรือไม่....ตรงนี้แหละคือปมใหญ่

หากเป็นเช่นนั้น ศาลปกครองกลางก็จะน่าจะไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ แม้ว่ากระทรวงคมนาคม และ รฟท. สามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป  

แต่อย่าลืมที่ผมบอกไว้ก่อนหน้าว่า ศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยในคดีโฮปเวลล์ที่สิ้นสุดไปแล้ว แต่วินิจฉัยหลักเกณฑ์ข้อกฎหมาย ไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายในขอบเขตศาลปกครองแม่แต่น้อย 

นักกฎหมายบรมครูท่านหนึ่งที่เกาะติดเรื่องนี้ และเห็นว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะใครไม่ยอมใครนี่แหละจะทำให้ยุ่ง บอกว่า หนทางของฝ่ายรัฐที่ใช้ในการสู้คดีซึ่งอาจจะเป็นหนทางสุดท้ายแล้วในขณะนี้ก็คือ การต่อสู้เรื่องอายุความการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ มิใช่เรื่องประเด็นของสัญญาแต่อย่างใด 

แต่เมื่อเปิดดูไทม์ไลน์จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้แล้ว จะเห็นว่า คดีนี้มีข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาว่า ฝ่ายรัฐบอกเลิกสัญญากับเอกชนโดยชอบหรือไม่ โดยโฮปเวลล์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งตามสัญญาเมื่อคู่สัญญามีข้อพิพาทกันสามารถเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ภายในอายุความ ซึ่งอายุความขณะนั้นเป็นอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือ 10 ปี  

ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2542 กฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นฟ้องคดีสัญญาสัมปทานภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี 

ตรงนี้แหละที่ส่งผลให้สัญญาสัมปทานโฮปเวลล์ ซึ่งลงนามเมื่อปี 2533 กลายมาเป็นสัญญาที่อยู่ในบังคับของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองดังกล่าวด้วย 

แต่ทว่ากรณีดังกล่าว ทำให้อายุความการฟ้องคดีสัญญาสัมปทานหรือสัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองที่ลงนามไว้ก่อนกฎหมายดังกล่าวถูกจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีจาก 10 ปีมาเป็น 1 ปี  ยุ่งเลยครับ

บางคดีเช่นโฮปเวลล์อายุความในการฟ้องคดีก็ขาดไปแล้วสิครับ คือโฮปเวลล์รู้เหตุแห่งการบอกเลิกสัญญา (เหตุแห่งการฟ้องคดี) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 แต่กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2542 กำหนดให้ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี (มิใช่ภายใน 1 ปีนับแต่วันใช้บังคับกฎหมาย)

ถ้าเช่นนี้ ก็แสดงว่าโฮปเวลล์ต้องนำคดีมาฟ้องหรือเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการภายในวันที่ 30 มกราคม 2542 ก่อนกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ จะมีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็นเรื่องที่พ้นวิสัยโดยแท้ 

เมื่อโฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ปี 2547 อนุญาโตตุลาการเห็นว่า ยังอยู่ในอายุความ 10 ปี ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะทำสัญญาและขณะเกิดข้อพิพาท จึงน่าจะชอบด้วยเหตุผลแล้วนะครับท่าน

เดิมพันในคดีนี้จึงลากพันไปถึงภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นด้านการลงทุน จากนักลงทุนต่างชาติ และระบบกระบวนการระงับข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการ ต่อไปในอนาคตของไทย

ไม่ว่าจะออกทางไหนภายใน 5 ปี เรารู้กันแน่ว่าศาลปกครองจะจบอย่างไร เพราะกฎหมายมีกำหนดอายุความการขอให้พิจารณาคดีใหม่เพียงเท่านั้นครับ