"กัลฟ์"ควบ"อินทัช" พลิกโทรคมนาคม

02 พ.ค. 2564 | 20:00 น.

วงการชี้ กัลฟ์ เทกโอเวอร์ INTUCH ขึ้นผงาดธุรกิจโทรคมนาคม หวังใช้ต่อยอดสร้างนวัตกรรมใหม่ธุรกิจไฟฟ้าสู้ผู้บริโภค ช่วยดันมาร์เกตแคปใหญ่สุดในตลาด 1 ล้านล้านบาท โกยรายได้จากส่วนแบ่งตลาด 40 %

การเทกโอเวอร์บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ผู้ดำเนินงานด้านโทรคมนาคม อันดับ 1 ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ยักษ์ใหญ่แห่งวงการพลังงาน ซึ่งเป็นที่ฮือฮาในวงการตลาดหุ้น โทรคมนาคม เครือข่ายธุรกิจพลังงาน และกำลังจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจโทรคมนาคมของไทย

ถึงขนาดมีกระแสข่าวออกมา เจ้าสัวใหญ่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ผู้กุมบังเหียน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เชิญนายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF ไปจิบน้ำชาเจรจาเรื่องของธุรกิจ เพราะมีความวิตกกังวล จะกระทบถึงการดำเนินธุริจ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจมือถือ มีโอเปอเรเตอร์อยู่ 3 ราย คือ TRUE AIS และ DTAC

 

ดันมาร์เกตแคปใหญ่สุด

GULF เข้าไปถือหุ้น INTUCH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ AIS ย่อมสะท้อนมาถึงการดำเนินงานของ TRUE ที่เป็นคู่แข่ง ที่จะทำให้ GULF ผงาดขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ธุรกิจโทรคมนาคม จากการครอบครอง INTUCH, AIS และ THAICOM ส่งผลให้ GULF มีมูลค่าตลาดหรือมาร์เกตแคป ขนาดใหญ่สุดถึง 1,071,398 ล้านบาท แบ่งเป็น จากมาร์เกตแคปหุ้น ADVANC 499,557 ล้านบาท มาร์เกตแคปหุ้น GULF 384,260 ล้านบาท และมาร์เกตแคปหุ้น INTUCH 87,580 ล้านบาท

การดีลซื้อหุ้น INTUCH ของ GULF ครั้งนี้ ในวงการมีความเห็นกันว่าไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่เกิดจากซุปเปอร์คอนเนคชั่น ที่นายสารัชถ์ มีสายสัมพันธ์สนิทแนบแน่นกับพรรคการเมืองและรัฐบาลทุกยุคสมัย ที่มีพื้นฐานมาจากวงศ์ตระกูลสายเลือดทหาร

นายสารัชถ์ จบการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกา ปริญญาโท วิทยาศาสตร์ สาขาการจัดการทางวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย จึงแนบแน่นกับเครือข่ายวิศวะ จุฬา” ที่เป็นคณะผู้บริหารประเทศทั้งในอดีต และปัจจุบัน อย่างนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นต้น

ก้าวสู่วงการพลังงานและเติบโต จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จากโครงการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่หรือไอพีพี และโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายเล็กหรือเอ็สพีพี ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี จนกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่สุดของประเทศในเวลานี้ และได้แตกไลน์ธุรกิจเข้าสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ คลังก๊าซแอลเอ็นจี และทางด่วนมอเตอร์เวย์ จนมาถึงการเข้าสู่วงการโทรคมนาคม ที่ปูพื้นฐานมาด้วยการเข้าซื้อหุ้น INTUCH ราว 18% เป็นใบเบิกทาง

 

ซื้ออินทัชต่อยอดธุรกิจ

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการเปลี่ยนผู้ถือหุ้น หรือนักลงทุน ในธุรกิจโทรคมนาคมไทยมีมาตลอด เช่น สิงเทลที่เข้ามาลงทุนในอินทัช และเอไอเอส หรือ กลุ่มเทเลนอร์ ที่เข้ามาถือหุ้นในดีแทค แต่กรณี GULF เสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดในบริษัท อินทัช นั้นเป็นที่สนใจ เพราะอินทัช และเอไอเอส เป็นเบอร์หนึ่งของประเทศทางด้านโทรคมนาคม และมีฐานผู้ใช้บริการมากสุด และยังเป็นการลงทุนข้ามอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ธุรกิจโทรคมนาคมยุคใหม่นั้น เกิดการหลอมรวมของเทคโนโลยี และบริการ ไม่แยกชิ้นเหมือนในอดีต เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ใช่แค่โทรเข้าโทรออก ดูวิดีโอสตรีมมิ่ง แต่ 5G และ IoT จะเป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานที่สามารถต่อยอดได้หลากหลาย ซึ่ง GULF อยู่ในธุรกิจพลังงาน สามารถบริหารจัดการผ่านเครือข่ายหรือ เน็ตเวิร์กทั้งหมด ทั้งโซล่าร์ รูฟท็อป ที่สามารถใช้ 5G และ IoT มาบริหารจัดการทรัพยากรพลังงานในบ้าน เพื่อเป็นสมาร์ท โฮม หรือ มอนิเตอร์การใช้พลังงาน

ธุรกิจพลังงานพยายามผันตัวเองมาให้บริการโทรคมนาคม ตัวอย่างเช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) ที่มีเครือข่ายแบคโปน ไฟเบอร์ออฟติกทั่วประเทศ ก็พยายามต่อยอดธุรกิจมาให้บริการโทรคมนาคม ในต่างประเทศมีการให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านสายไฟฟ้าไปยังบ้าน ซึ่งมองว่า GULF ที่มีกระแสเงินสดอยู่ในมือมาก ก็มองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อผลตอบแทนในอนาคต และต่อยอดธุรกิจเดิมออกไป ต้องการเอาโทรคมนาคมไปใช้เพื่อการบริการจัดการพลังงาน ลงไปถึงระดับผู้ใช้คอนซูเมอร์ จากเดิมบริหารจัดการพลังานในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก และมองว่าน่าจะมองการสร้างโอกาสทางธุรกิจมากกว่าผลตอบแทนการลงทุน


ธุรกิจโทรคมนาคมภายใต้อุ้งมือกัลฟ์

ตลาดมีมูลค่าสูง

ขณะที่ผลการสำรวจตลาดสื่อสารและข้อมูลอินเตอร์เน็ตในปี 2563 โดยสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่ารวม 605,108 ล้านบาท ลดลง 2.3% เทียบปีก่อนหน้า ที่มีมูลค่า 619,143 ล้านบาท

ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดล่าสุดเมื่อไตรมาส 3 ปี 2563 ระบุว่าเอไอเอส ยังคงมีจำนวนเลขหมายของลูกค้าสูงที่สุดในตลาดที่ 40.9 ล้านหมายเลข แบ่งเป็นลูกค้ารายเดือน จำนวน 9.7 ล้านราย ลูกค้าแบบเติมเงิน 31.2 ล้านราย ตามมาด้วย True ที่มีฐานลูกค้ารวมจำนวน 30.1 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าระบบเติมเงิน 20.8 ล้านรายและระบบรายเดือน 9.3 ล้านราย และ DTAC มีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 18.7 ล้านหมายเลข 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564