บีเอสยูวี รุ่นไหนขายดี Toyota Corolla Cross นำโด่ง Mazda CX แรงทุกตัว

29 เม.ย. 2564 | 02:30 น.

ตรวจสอบยอดขายบีเอสยูวี ไตรมาสแรก ปี 2564 Toyota Corolla Cross อันดับหนึ่ง

เซ็กเมนต์บี-เอสยูวี แข่งเดือด ทั้งโมเดลกลุ่มเริ่มต้น 7-8 แสนบาท และระดับบนราคากว่า 1 ล้านบาท โตโยต้า เน้นขายโคโรลล่า ครอส ลดบทบาท ซี-เอชอาร์ ส่วนมาสด้า ตระกูล CX ปิดไตรมาสแรกยอดขายแรงทุกตัว

ตลาด“บี-เอสยูวี” ราคาตั้งแต่ 7 แสนบาท - 1.2 ล้านบาท ยอดขายรวมต่อปีประมาณ 5-6 หมื่นคัน โดยปี 2563 Toyota Corolla Cross ขายมากที่สุด 12,945 คัน แม้เพิ่งเปิดตัวและส่งมอบรถได้ในครึ่งปีหลัง ตามด้วย MG ZS 11,013 คัน ส่วนปีนี้ผ่านมา 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.64) อันดับในตารางของสองรุ่นนี้ ยังไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับโตโยต้ามี “บี-เอสยูวี” ให้เลือก 2 รุ่นคือ Toyota Corolla Cross และ Toyota C-HR โดยหลังจากการเปิดตัว Corolla Cross เดือนกรกฎาคม 2563 สามารถทำยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ สวนทางกับ C-HR ที่ยอดขายลดเหลือร้อยกว่าคันต่อเดือน

ส่วนหนึ่งเพราะความสดใหม่ของโปรดักต์ พร้อมรูปลักษณ์ทรงกล่องดั้งเดิม ไม่ฉีกแนวสุดขั้วสไตล์คูเป้เหมือน C-HR ทั้งยังให้ความอเนกประสงค์มากกว่าเล็กน้อย จึงตอบสนองความต้องการของตลาดในวงกว้างได้

ขณะเดียวกัน ด้วยปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต รวมถึงข้อจำกัดในการประกอบชุดแพกแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริด(ที่ใช้ร่วมกัน) โตโยต้าจำเป็นต้องให้นํ้าหนักในการผลิตและการขายไปที่รุ่นใดรุ่นหนึ่ง ซึ่ง Toyota Corolla Cross ตอบโจทย์ตรงใจกับตลาดอย่างเห็นได้ชัด

เหนืออื่นใด อาจจะเป็นเรื่องการควบคุมต้นทุนต่อหน่วยการผลิต ที่เมื่อเทียบกันแบบปอนด์ต่อปอนด์แล้ว C-HR อาจเสียเปรียบ Corolla Cross

ยอดขายบีเอสยูวี

ประเด็นนี้ สะท้อนถึงการเลิกทำตลาด Toyota C-HR รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตรในปีที่แล้ว โดยเหลือทางเลือกเฉพาะรุ่นไฮบริดเท่านั้น ขณะที่ Toyota Corolla Cross มีให้เลือกทั้งสองขุมพลัง

นอกจากนี้ ในตลาดโลกเปิดตัว Toyota C-HR ไมเนอร์เชนจ์ ไปเรียบร้อย แต่เมืองไทยยังเงียบ และตามการรายงานของเว็บไซต์ชื่อดัง Headlightmag ระบุว่า ครอสโอเวอร์รุ่นนี้ อาจจะไม่ทำตลาดรุ่นไมเนอร์เชนจ์ในเมืองไทยแล้ว ซึ่งประเด็นนี้ต้องรอคำยืนยันจากโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยต่อไป

ขณะที่คู่แข่งสำคัญ Honda HR-V เข้าสู่ปลายอายุโมเดล แต่ไตรมาสแรกยังขายได้ 1,692 คัน โดยฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย เตรียมขึ้นไลน์ผลิตและทำตลาด Honda HR-V โฉมใหม่โมเดลเชนจ์ช่วงปลายปี 2564 โดยขุมพลังหลักในการทำตลาดคือ ไฮบริด e:HEV เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ผสานการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า ชุดเดียวกับ Honda City e:HEV ตัวถังซีดานในปัจจุบัน

ด้านมาสด้า เจ้าตลาดเอสยูวีในไทยจากการขาย 4 โมเดลคือ Mazda CX-3,CX-30,CX-5 และ CX-8 โดยกลุ่มบีเอสยูวี เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร มีให้เลือกทั้ง Mazda CX-3 ราคา 7.69-9.59 แสนบาท และ กลุ่มบน CX-30 ราคา 9.89 แสน - 1.199 ล้านบาท ท้าชน Toyota Corolla Cross และ Honda HR-V

หลังประเดิมศักราชใหม่ กลายเป็นว่าเอสยูวีหรือครอสโอเวอร์ 2 รุ่นนี้ได้การตอบรับดีเช่นกัน โดย Mazda CX-3 ปิดไตรมาสแรกไป 1,189 คัน และ Mazda CX-30 จำนวน 2,298 คัน ช่วยผลักดันให้ยอดรวมมาสด้าทุกรุ่น ทำได้ 10,890 คัน โต 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2563 พร้อมปิดปีงบประมาณ 2563 ได้อย่างสวยงาม

สำหรับ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย เพิ่งจัดประชุมผู้จำหน่ายทั่วประเทศ (ระบบออนไลน์) เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา พร้อมประกาศขายรถในปี 2564 ถึง 50,000 คัน ตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 25% พร้อมส่วนแบ่งการตลาด 6%

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 (สิ้นสุดมีนาคม 2564) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งล้วนเกิดจากผลตอบรับของลูกค้า จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ทั้งรถยนต์นั่งรถครอสโอเวอร์เอสยูวี และปิกอัพ รวมถึงแผนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นช่องทางออนไลน์ จึงปิดยอดจำหน่าย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 ได้กว่า 40,000 คัน หรือครองส่วนแบ่งการตลาด 5.1% ซึ่งยอดขายมาสด้าในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 8 และครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 5 ของมาสด้าทั่วโลก

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,674 วันที่ 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564