จีนชู “นวัตกรรมการศึกษา” สร้างเยาวชนแข็งแรงสู้โควิด

27 เม.ย. 2564 | 11:16 น.

จีนประกาศนโยบายสร้างประชากรที่แข็งแรงให้เป็นรากฐานของสังคมที่แข็งแกร่ง และเป็น "ต้นทุน" ที่สำคัญในการต่อสู้กับความท้าทายด้านสาธารณสุขอย่างโรคโควิด-19 ที่กำลังสร้างผลกระทบไปทั่วโลกในเวลานี้ 

จีน กำลังเร่งขับเคลื่อน นวัตกรรมด้านยาและวัคซีน ควบคู่ไปกับการปลูกฝังรากฐาน “ความแข็งแรงทางกายและใจ” ให้กับ เด็กและเยาวชน ผ่านทาง “นวัตกรรมทางการศึกษา” ซึ่งมุ่งพัฒนา หลักสูตรการศึกษาให้ตอบโจทย์การสร้างประชากรที่มีต้นทุนความแข็งแรงทางกายภาพ

ในปีที่ผ่านมา (2563) ช่วงที่จีนสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศ เพื่อจำกัดพื้นที่และควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 ทำให้จำเป็นต้องมีคำสั่งห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น และสั่งปิดชั่วคราวสถานประกอบการ เช่น ร้านอาหาร ผับบาร์ โรงภาพยนตร์ รวมไปถึงสถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ต้องปรับตัว-ปรับหลักสูตรกันใหม่ หันมาใช้ระบบการศึกษาทางออนไลน์เป็นเวลายาวนานนับเดือน

อย่างก็ดี เมื่อวิกฤตคลี่คลาย และรัฐบาลตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ สถาบันการศึกษากลับมาเปิดประตูรับเด็กๆ เข้าห้องเรียนอีกครั้ง ทางการจีนได้ประเดิมวิถีชีวิตใหม่ในรั้วโรงเรียนให้เข้ากับยุค New Normal ด้วยการขอให้โรงเรียน ส่งเสริมหลักสูตรวิชา “พลศึกษา” โดยกระทรวงศึกษาธิการจีนได้ออก “แนวปฏิบัติว่าด้วยการส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา” เนื่องจากเล็งเห็นแล้วหลังจากที่นักเรียนทั่วประเทศกลับมาเรียนตามปกติอีกครั้ง ว่าการเรียนอยู่ที่บ้านเป็นระยะเวลานาน ทำให้ขณะนี้นักเรียนมีสภาพร่างกายอ่อนแอลง แต่พวกเขามีความกระตือรือร้นที่จะออกกำลังกายมากขึ้น

จีนชู “นวัตกรรมการศึกษา” สร้างเยาวชนแข็งแรงสู้โควิด

แนวปฏิบัติของกระทรวงฯ จึงระบุให้โรงเรียนปรับเปลี่ยนแผนการสอนให้เหมาะสม และให้เน้นวิชาพลศึกษามากเป็นพิเศษ โดยชี้แนะเป็นแนวทางว่า โรงเรียนควรจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาดที่จำเป็นให้กับครูและนักเรียน นอกจากนี้ ควรฆ่าเชื้อสถานที่และอุปกรณ์กีฬาอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังระบุให้โรงเรียนจัดกิจกรรมกีฬาในสถานที่ “กลางแจ้ง” หรือ “ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก”  และไม่ควรให้มีการสวมหน้ากากอนามัยขณะเล่นกีฬา

ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติระบุว่านักเรียนแต่ละคนควรออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน และเน้นให้มีการเรียนการสอนในด้านสุขปฏิบัติและการใช้ชีวิตอย่างสุขภาพดีด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจว่านักเรียนในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับจะได้ร่วมกิจกรรมการ ออกกำลังกายที่โรงเรียนระยะเวลา 1 ชั่วโมง/วัน และ อีก 1 ชั่วโมงหลังเลิกเรียนทุกวัน

กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ออกหนังสือเวียนระบุว่า ไม่ควรตัดวิชาพลศึกษา (PE) และกิจกรรมการออกกำลังกายในสถานศึกษาออกไป ขอให้โรงเรียนต่างๆ ให้คำแนะเกี่ยวกับการบ้านวิชาพละ และจัดหาแหล่งทรัพยากรด้านการออกกำลังกายที่มีคุณภาพให้กับเด็กและเยาวชนด้วย โดยวิชาพลศึกษาควรมุ่งสอนความรู้ด้านสุขภาพ ทักษะการออกกำลังกายขั้นพื้นฐาน และทักษะพิเศษทางกีฬาให้กับนักเรียน โดยมีเป้าหมายทำให้นักเรียนทุกคนสามารถเล่นกีฬาได้ 1-2 ประเภท

หลักสูตรการศึกษาฯของจีนมีเป้าหมายให้นักเรียนทุกคนสามารถเล่นกีฬาได้ 1-2 ประเภท

สำนักข่าวซินหัวของจีนยังระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการจีนยังสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสโมสรกีฬาสำหรับเยาวชน ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถใช้เวลา “นอกหลักสูตร” และ “นอกเวลาเรียน” ในการฝึกฝนทักษะฟุตบอล บาสเก็ตบอล วอลเลย์บอล รวมถึงกีฬาอื่นๆ ได้

ไม่แปลกใจเลยที่เมื่อพูดถึงการแข่งขันกีฬาหลายประเภทในระดับโลก ต้องมีชื่อของนักกีฬาจีนโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ในแถวหน้า ซึ่งคงต้องยกความดีความชอบให้กับความตั้งใจจริงของภาครัฐ และนวัตกรรมด้านการศึกษาที่ไม่ได้เน้นเฉพาะความเป็นเลิศด้านวิชาการ แต่ยังคำนึงถึงสุขภาพจิตและสุขภาพกายของเยาวชนเป็นสำคัญ  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง