กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้เสียชีวิตระลอกเดือนเมษายน ร้อยละ 55 เป็นผู้สูงอายุ

26 เม.ย. 2564 | 13:20 น.

กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลการเสียชีวิตจาก “โรคโควิด 19” พบผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ ย้ำระหว่างรอผลตรวจกักกันตัวเอง งดแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิด

นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน

 

วันที่ 26 เมษายน 2564 ที่ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,048 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 1,991 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 47 ราย จากต่างประเทศ 10 ราย รักษาหายเพิ่ม 480 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 8 ราย สำหรับระลอกเมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 28,645 ราย รักษาหาย 4,167 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 54 ราย ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 25 เมษายน 2564 ฉีดสะสม 1,149,666 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 972,204 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 177,462 ราย เฉพาะวันที่ 25 เมษายน ฉีดได้ 25,513 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 23,080 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 2,433 ราย

 

สำหรับผู้เสียชีวิต 8 รายวันนี้ เป็นเพศชาย 6 ราย หญิง 2 ราย อายุระหว่าง 24 – 92 ปี เป็นผู้สูงอายุ 4 ราย โรคประจำตัวที่พบ ได้แก่ เบาหวาน 1 ราย ความดันโลหิตสูง 3 ราย ไขมันในเลือดสูง 1 ราย เนื้องอกในระบบน้ำเหลือง 1 ราย หัวใจขาดเลือด 2 ราย ไตวายเรื้อรัง 1 ราย ภาวะน้ำหนักเกิน 1 ราย ไทรอยด์เป็นพิษ1 ราย และข้ออักเสบรูมาตอยด์ 1 ราย ผู้เสียชีวิตในวันนี้พบระยะเวลาเริ่มป่วยจนเสียชีวิตอยู่ในช่วง 3 -10 วัน

 

สำหรับกรณีหญิงอายุ 24 ปี เสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 นายแพทย์เฉวตสรรได้ชี้แจงว่า โดยทั่วไปการแพ้วัคซีนจะพบได้ในระยะเวลาสั้น ๆ หลังการฉีด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้สังเกตอาการ หลังการฉีดไว้เป็นเวลา 30 นาทีรองรับแล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวเสียชีวิตในวันที่ 2 หลังเข้ารับการฉีดวัคซีน ขณะนี้ยังไม่สรุปว่าเป็นการแพ้วัคซีน อย่างไรก็ตามไม่ได้ทิ้งประเด็นใดๆ จะต้องมีการสอบสวนและหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียด และจะนำข้อมูลการชันสูตรศพ ร่วมกับผลตรวจ ทางห้องปฏิบัติการ ประวัติการป่วย การรักษา การฉีดวัคซีน ล็อตของวัคซีน เข้าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนเพื่อลงความเห็นต่อไป

 

ทั้งนี้ แม้ระยะหลังผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้ที่มีอายุน้อยลงกว่าระยะแรก หากดูในรายละเอียดแล้วผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ เสียชีวิตเกินครึ่งหนึ่งของทั้งหมด โดยการเสียชีวิตทั้ง 3 ระลอก พบว่าระลอกมกราคม 2563 เป็นชายมากกว่าหญิง 3.3 เท่า เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 45, ระลอกธันวาคม 2563 ชายมากกว่าหญิง 2.8 เท่า เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 64 และระลอกเมษายน 2564 ชายมากกว่าหญิง 1.7 เท่า เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปร้อยละ 55 อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขยังคงให้ความสำคัญในการดูแลรักษาในทุกกลุ่มอายุอย่างดีที่สุด

 

“ระหว่างรอผลการตรวจเชื้อโควิดเป็นช่วงที่สำคัญ ขอความร่วมมือให้เคร่งครัดการกักกันตัวเอง แยกอยู่ในพื้นที่เฉพาะ งดพบปะผู้อื่น แยกรับประทานอาหาร ไม่ใกล้ชิดญาติพี่น้องและคนในครอบครัว หลีกเลี่ยงการเดินทาง ดูแลความสะอาดพื้นที่ใช้งานร่วมกับผู้อื่นเป็นพิเศษ เช่น ห้องน้ำ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้” นายแพทย์เฉวตสรรกล่าว