5 ตระกูลใหญ่ กับการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ (จบ)

25 เม.ย. 2564 | 04:40 น.

บทความ:สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด5 ตระกูลใหญ่ กับการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ (จบ)

ฉบับที่แล้ว(3670)หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเสนอบทความ"5 ตระกูลใหญ่  กับการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ"ไปแล้ว 2กลุ่มฉบับนี้เป็นยักษ์ใหญ่ค่ายไหนบ้างเริ่มจาก 3. กลุ่มเซ็นทรัลหรือตระกูลจิราธิวัฒน์ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยตระกูลจิราธิวัฒน์น่าจะเป็นตระกูลใหญ่ที่สุดในธุรกิจนี้ เพราะพวกเขาเป็นเจ้าของโครงการค้าปลีกที่อยู่ภายใต้แบรนด์เซ็นทรัลทั้งหมดรวมไปถึงโรบินสัน ท็อปส์ขนาดต่างๆ และร้านอาหารอื่นๆ อีกหลากหลายแบรนด์ อีกทั้งยังมีโรงแรมในเครือเซ็นทาราทั่วประเทศ และศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และโรงแรมในอีกหลายประเทศทั่วโลก เป็นกลุ่มธุรกิจที่บริหารกิจการโดยคนในครอบครัวและขยายกิจการใหญ่โตของประเทศไทย

                กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มต้นกิจการของตนเองจากธุรกิจค้าปลีกซึ่งมีทั้งห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า ก่อนที่จะต่อยอดไปยังอาคารสำนักงานในกรุงเทพมหานคร และโรงแรมทั่วประเทศ ก่อนที่จะขยายไปซื้อห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และโรงแรมรวมไปถึงการเข้าไปร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มขยับเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแบบชัดเจนในปีพ.ศ.2559 หลังจากที่เปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในจังหวัดเชียงใหม่ ระยอง และขอนแก่น อีกในไตรมาสที่ 1 จากนั้นมีอีกหลายโครงการคอนโดมิเนียมในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยโครงการคอนโดมิเนียมของกลุ่มเซ็นทรัลจะอยู่ในทำเลรอบๆ ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าของเครือเซ็นทรัล จากนั้นกลุ่มเซ็นทรัลมีการเปิดขายโครงการบ้านจัดสรรโดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “นิยาม” และ “นินญา” ซึ่งทั้งโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมพัฒนาโดยบริษัท ซีพีเอ็น เรสซิเดนซ์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันมีโครงการครอบคลุมในหลายทำเลทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

                การก้าวเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกก้าวสำคัญของกลุ่ม เซ็นทรัลคือ การเข้าเทกโอเวอร์บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มจีแลนด์ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลได้โครงการอสังหาริมทรัพย์ และที่ดินของกลุ่มจีแลนด์เข้ามาในกลุ่มอีกหลายโครงการทั้งโครงการอาคารสำนักงาน บ้านจัดสรร และที่ดินเปล่า ซึ่งที่ดินเปล่าที่กลุ่มเซ็นทรัลได้มานั้นทำให้ได้รับการจับตามองมาก เนื่องจากเป็นที่ขนาดใหญ่ตรงสี่แยกถนนพระราม 9 ตัดกับถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเคยเป็นของกลุ่มจีแลนด์  แม้ว่าจะพัฒนาไปแล้วแต่ด้วยที่ขนาดใหญ่กว่า 70 ไร่ทำให้ยังมีที่ดินเหลือรอการพัฒนาอีกในอนาคต และที่ดินขนาด 48 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างแยกรัชโยธินและห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลได้มาจากการเทกโอเวอร์จีแลนด์ และการซื้อหุ้นอีก 50% ในบริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด จากบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ทำให้เซ็นทรัลได้ที่ดินทั้งแปลงมาเป็นกรรมสิทธิ์

5 ตระกูลใหญ่  กับการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ (จบ)

4. กลุ่มสิงห์ หรือตระกูลภิรมย์ภักดี

                บริษัทที่มีรายได้หลักจากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำดื่มรายใหญ่ของประเทศไทย ก่อนที่จะขยายธุรกิจออกมาครอบคลุมธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีธุรกิจอสังหารมิทรัพย์แบบชัดเจน เป็นเพียงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของบริษัทเท่านั้น ทั้งการเข้าซื้อกิจการโรงงานต่างๆ ก็เป็นการต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่ทั้งสิ้น

                การเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มสิงห์สามารถเห็นได้ชัดเจนเมื่อพวกเขาเข้าเทกโอเวอร์บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในปีพ.ศ.2557 จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) และหลังจากนั้นกลุ่มสิงห์ก็เริ่มพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ชื่อบริษัท สิงห์เอสเตท จำกัด (มหาชน) ออกมาต่อเนื่องรวมไปถึงโครงการที่ได้จากการเทกโอเวอร์รสาบางส่วน โดยโครงการที่เกิดขึ้นหลังจากนี้มีทั้งโครงการคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า (ขนาดเล็ก) นอกจากนี้กลุ่มสิงห์ยังเข้าเทกโอเวอร์หรือเข้าซื้อกิจการที่เป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์อีกหลายแห่งต่อเนื่องกัน ซึ่งมีผลให้พวกเขาเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานเพิ่มเติม และยังมีการพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานใหม่ของพวกเขาเองอีกด้วย

                นอกจากนี้ในส่วนของโครงการที่อยู่อาศัยก็มีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมออกมาต่อเนื่องทั้งในระดับราคาแพง และระดับกลาง รวมไปถึงโครงการบ้านจัดสรรราคาแพงในกรุงเทพมหานครอีกด้วย การเข้าซื้อกิจการโรงแรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเป็นอีก 1 รูปแบบธุรกิจที่พวกเขาดำเนินการต่อเนื่องหลังจากที่เริ่มดำเนินกิจการ โดยในติอนนี้พวกเขามีโรงแรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวมทั้งหมด 39 แห่ง ภายใต้การบริหารโดยบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด มหาชน กลุ่มสิงห์อาจจะเป็นกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนค่อนข้างชัดเจนในธุรกิจโรงแรม คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน อีกทั้งยังมีทิศทางในอนาคตที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะขยายการลงทุนเพิ่มต่อไป

 

5. กลุ่มบีทีเอสหรือตระกูลกาญจนพาสน์

                บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ คุณคีรี กาญจนพาสน์ เป็นบริษัทที่เป็นผู้ได้รับสัมปทานเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางแรกของประเทศไทยโดยก่อนหน้านี้พวกเขาใช้ชื่อว่า บริษัท ธนายง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาโครงการธนาซิตี้ โครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่บนถนนบางนา-ตราด ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ในปี

พ.ศ.2553 บริษัทนี้มี 4 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการ และธุรกิจพัฒนาและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ

                ธุรกิจพัฒนาและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศซึ่งเป็น 1 ใน 4 ธุรกิจหลักของกลุ่มบีทีเอส ดำเนินการโดยบริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อนหน้านี้คือ บริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้ามาอยู่ภายใต้กลุ่มบีทีเอสในปีพ.ศ.2558 และมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารและพัฒนาของยูซิตี้หลายโครงการทั้งโครงการโรงแรมในประเทศไทยและต่างประเทศ อาคารสำนักงานที่เปิดให้บริการมานานแล้ว และที่กำลังก่อสร้างใหม่ รวมไปถึงโครงการที่อยู่อาศัยที่กลุ่มบีทีเอส โดยบริษัทยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) เข้าไปร่วมทุนพัฒนาด้วยทั้งกับบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการที่พัฒนาร่วมกัน การเข้าซื้อหุ้นบางส่วนในบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อต่อยอดพัฒนาโครงการขนาดใหย่ร่วมกันแถวบางนา - ตราด

                บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมทุนในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมร่วมกับบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) 4 โครงการในปีพ.ศ.2564 รวมไปถึงการเข้าซื้ออาคารสำนักงานของโนเบิลก่อนห้านี้ด้วย และอาจจะมีอีกหลายโครงการใน

อนาคต นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซที่ร่วมทุนกับฮ่องกงอีกด้วย

                ถ้าพิจารณาเป็นตระกูลแล้ว ตระกูลกาญจนพาสน์ยังมีอีก 1 ฝั่งที่ลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มายาวนาน คือ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นของคุณอนันต์ กาญจนพาสน์ ผู้พัฒนาโครงการเมืองทองธานี และอิมแพ็ค เมืองทองธานีในปัจจุบัน พื้นที่ครอบคลุมกว่า 4,000 ไร่ มีทั้งคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้า โรงแรม สนามกีฬา โรงแรม ทิศทางของเมืองทองธานีกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นหลังจากหมดคิวด-19 น่าจะมีการขยายตัวต่อเนื่องอีก  เพราะมีเส้นทางรถไฟฟ้าต่อขยายจากสายสีชมพูเข้ามาในเมืองทองธานีอีก 2 สถานี

                ทั้ง 5 กลุ่มบริษัท 5 ตระกูลก็ครอบคลุมุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยไปได้ไม่น้อยแล้วในปัจจุบัน ยังมีตระกูลอื่นๆ ที่อาจจะยังมี่ชัดเจนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ตระกูลโชควัฒนากลุ่มสหพัฒน์ที่มีการลงทุนทั้งโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์ คอมมูนิตี้มอลล์ที่ศรีราชา ตระกูลมหากิจศิริที่เริ่มขยับเข้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นมีการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการโดยใช้บริษัท เดอะ เนสท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งได้รุ่นลูกของตระกูลมาเป็นผู้บริหาร ซึ่งถ้าทิศทางของทั้ง 2 ตระกูลนี้ชัดเจนและต่อเนื่อง รวมไปถึงตระกูลอื่นๆ ถ้ามีการขยับขยายเข้ามรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบชัดเจนก็อาจจะมาตามกันต่อเนื่องในอนาคต

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564