ส่องตัวเลข คนไทย "ตรวจโควิด” 8.1 ล้านคน

23 เม.ย. 2564 | 20:00 น.

รายงานพิเศษ : ส่องตัวเลข คนไทย "ตรวจโควิด” 8.1 ล้านคน

การระบาดของเชื้อโควิด19 ระลอก 3 ผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากหลายกรณีมีความเชื่อมโยงกับ "สถานบันเทิง" โดยเฉพาะย่านทองหล่อ

วันที่ 23 เมษายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่วันเดียว  2,070 ราย ในประเทศ 2,062 ราย มาจากต่างประเทศ 8 ราย สะสม 50,183 ราย น่าตกใจที่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 คน ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ระลอกนี้เพิ่มเป็น 121 คน  

ส่องตัวเลข คนไทย "ตรวจโควิด” 8.1 ล้านคน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 64 ที่ผ่านมา เกิดกระแสตื่นตระหนกในกลุ่มประชาชนไปทยอยตรวจโควิดเป็นจำนวนมาก ทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งรับไม่ไหวนำไปสู่การงดให้บริการชั่วคราว

เฉพาะที่สถาบันบำราศนราดูรพบว่ามีผู้เดินทางมาตรวจหาเชื้อ เฉลี่ยวันละ 600-700 คน เป็นประชาชนที่เดินทางมาจากทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อวันละ 50-60 คน

ข้อมูลล่าสุดของ Worldrometer ระบุว่า ประเทศไทยมีการตรวจหาเชื้อโควิดแล้ว (Total Tests) 8,124,896 คนหรือคิดเป็นสัดส่วนตรวจแล้ว 116,171คนต่อประชากรทุก1ล้านคน  

ส่องตัวเลข คนไทย "ตรวจโควิด” 8.1 ล้านคน

มีการตั้งข้อสังเกตว่าจริงหรือไม่ที่คนไทย “ตรวจโควิด” 8.1 ล้านคน ?? 

นายเเพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจว่า ตัวเลขข้างต้นเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเกินจริงอาจเป็นไปได้ว่ามีการนับซ้ำสำหรับคนที่ไปตรวจหาเชื้อหลายรอบ ซึ่งข้อมูลของ Worldrometer สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการตรวจเชิงรุกมากขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่นคนไข้ 50,000 คน แต่ละคนต้องตรวจอย่างน้อย 4 ครั้ง ก็เท่ากับ 200,000 ครั้ง ต้องเข้าใจว่าแต่ละคนอาจจะตรวจมากกว่า 4 ครั้ง ผมเคยเจอเคสตรวจซ้ำถึง 8 ครั้ง เพราะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือมีอาการเข้าข่ายของโรค ส่วนตัวเลขการตรวจโควิดของประเทศไทยก็น่าจะอนุมานได้ว่าตรวจไปแล้วราว 2 ล้านคน” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด 19 โดยศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค วันที่ 1 มกราคม - 22 เมษายน  2564 

  • จำนวนผู้ได้รับคัดกรอง (ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทางอากาศ ทางบก และ ทางเรือ) 8,270,560 ราย 
  • ผู้มาต่ออายุหนังสือเดินทางที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแจ้งวัฒนะ 528,669 ราย
  • จำนวนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 1,911,034 ราย คิดเป็นราว 2.89 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย  

ส่องตัวเลข คนไทย "ตรวจโควิด” 8.1 ล้านคน

นายเเพทย์รุ่งเรือง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเลขการตรวจทางห้องปฏิบัติการจำนวน 1.9 ล้านคน ตามรายงานกรมควบคุมโรคเป็นตัวเลยที่คาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ถ้านับตั้งแต่การระบาดระลอกแรกซึ่งทำให้เห็นภาพใหญ่ของการค้นหาผู้ติดเชื้อโควิดเชิงรุก

แต่อย่างไรก็ตามการจะคำนวนการตรวจเชื้อของประชากรจำเป็นจะต้องแยกกลุ่มประชากรออกเป็นกลุ่มให้ชัดเจน เช่น ขณะนี้กลุ่มมีความเสี่ยงสูงมีกี่คน ตรวจไปแล้วกี่คน รวมทั้งกลุ่มมีความเสี่ยงต่ำกี่คน ตรวจไปแล้วกี่คน เป็นต้น  

ส่วนตัวมองว่าประเทศไทยถือว่าทำได้เกินมาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโควิด ข้อดีก็คือสามารถตรวจหาแบบเชิงรุกได้ แต่ข้อด้อยก็คือทรัพยากรหายไป ถ้าไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือที่ดีพอหากพบการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก” นพ.รุ่งเรืองกล่าว

ข้อมูลรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด 19 โดยศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค พบว่า

  • วันที่1-21 เมษายน 2564 มีการตรวจ 351,295 ตัวอย่าง เฉลี่ยวันละ 16,728 ตัวอย่าง โดยวันที่21 เมษายน มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,458  ราย 
  • วันที่1-31 มีนาคม 2564 มีการตรวจ 393,262 ตัวอย่าง เฉลี่ยวันละ 10,628 ตัวอย่าง โดยวันที่23 มีนาคม มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 401  ราย
  • วันที่1-28 กุมภาพันธ์ 2564 มีการตรวจ 371,658 ตัวอย่าง เฉลี่ยวันละ 13,273 ตัวอย่าง โดยวันที่1และ 2 กุมภาพันธ์ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 836 ราย 

หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งโควิดระบาดระลอกแรก พบสถิติตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2563กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รายงานว่า มีการตรวจหาเชื้อโควิด 286,008 ตัวอย่าง 

ครั้งนั้น นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. กล่าวถึงกรณีไทยพบผู้ป่วยติดโควิด-19 น้อย เป็นผลมาจากการตรวจหาเชื้อน้อยหรือไม่ ว่าตัวเลขสะสมของการตรวจในห้องปฏิบัติการตั้งแต่เดือนมกราคมถึง 4 เมษายน 2563 มีตัวเลขการตรวจสะสม 71,860 ตัวอย่าง  

เท่ากับว่าความสามารถในการตรวจของประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้วันละ10,000 ราย ต่างจังหวัดรวมกันอีกวันละ 10,000 ราย วันละ 20,000 ราย จึงมีความพยายามจะเพิ่มให้มากขึ้นเป็นตรวจวันละเป็น 100,000 ราย แต่ปัจจุบันการตรวจในแต่ละวันยังคงน้อยกว่าที่ประกาศไว้

สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในประเทศยังมีประเด็นเรื่องการเข้ารับการตรวจเองในโรงพยาบาลซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงหากไม่ได้อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังหรือสัมผัสใกล้ชิดที่สามารถเข้าตรวจได้ฟรี อาจทำให้การเข้าถึงการตรวจได้ไม่ทั่วถึง

ซึ่งทาง สปสช. ก็ย้ำว่าคนไทยทุกคน ทุกสิทธิ หากเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ฟรี แม้ไม่พบเชื้อก็ตาม 

ผู้ที่อยู่ในอาการเข้าข่ายโควิด-19 ตามเกณฑ์ มีลักษณะ ดังนี้
•    มีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป มีอาการระบบทางเดินหายใจ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว เหนื่อย หายใจลำบาก 
•    ช่วง14 วันก่อนมีอาการ เดินทางกลับจากต่างประเทศ สัมผัสกับคนต่างชาติ สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19
•    เป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ โดยมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ

ขณะที่ห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ เครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2  มีจำนวนทั้งสิ้น 279 แห่ง

  • กรุงเทพและปริมณฑล 109 แห่ง (แบ่งเป็นภาครัฐ 43 แห่ง ภาคเอกชน 66 แห่ง)
  • ต่างจังหวัด 170 แห่ง (แบ่งเป็นภาครัฐ 133 แห่ง ภาคเอกชน 37แห่ง

แม้วันนี้จะมีการ “ตรวจโควิดเชิงรุก”จะเป็นวิธีทำให้เจอผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ถ้าทุกอย่างเดินหน้าไปพร้อมกันทั้งหาผู้ติดเชื้อและฉีด "วัคซีนต้านโควิด-19" ซึ่งถือเป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตประเทศไทยทั้งเศรษฐกิจและการหยุดยั้งอัตราผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ท่ามกลางเสียงวิพากวิจารณ์ว่าฉีดวัคซีน "ช้าไป" และมี "น้อยไป" 

“เราอาจต้องหันกลับมาทบทวนว่าระหว่างการตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกที่มีงบประมาณค่อนข้างสูงกับการเร่งหาวัคซีนเพื่อเร่งฉีดให้กับคนในประเทศอันไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน” นพ.รุ่งเรืองฝากเอาไว้
 

ที่มา : กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

อัพเดท จังหวัดไหน"ไม่สวมหน้ากาก" ออกจากบ้าน โดนปรับ 2หมื่นเช็กเลย

เร่งฉีดวัคซีน “โควิด-19” ในพื้นที่ระบาด พื้นที่ท่องเที่ยว

สายด่วน 1669 หนาแน่น วันละ 3,500 สาย กทม.สั่งเพิ่มคู่สาย ส่งต่อผู้ป่วยโควิด