UVC Moving CoBot พื้นที่นี้ปลอดไวรัส

23 เม.ย. 2564 | 08:10 น.

ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาตรการต่างๆ ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์ใหม่ รวมถึงการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อเป็นตัวช่วยและทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด มหาชน (เอไอเอส) ที่คิดค้นต้นแบบนวัตกรรม “UVC Moving CoBot

ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไวรัสโรค COVID-19 และเชื้อโรคอีกหลายชนิดนอกจากระบาดโดยการแพร่กระจายในละอองฝอยอากาศแล้ว ยังอาจกระจายเชื้อไวรัสและเชื้อต่างๆ สู่พื้นผิวของวัสดุและของใช้ต่างๆ ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต โรงภาพยนตร์ สำนักงาน เป็นต้น

UVC Moving CoBot ระบบหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่ มีส่วนประกอบหลัก 4 อย่าง ซึ่งทำงานร่วมกัน คือ 1. แหล่งกำเนิดรังสียูวีซี ขนาดกำลังอย่างน้อย 16 วัตต์ ขนาดหลอดยาว 25-35 เซนติเมตร ติดตั้งบนปลายแขนของหุ่นยนต์แขนกล 

2. หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะ ซึ่งแขนทั้งสองข้างของหุ่นยนต์ติดตั้งแหล่งกำเนิดรังสียูวีซี และฐานของหุ่นยนต์ ติดตั้งเข้ากับ AGV รถนำทางอัตโนมัติ สามารถครอบคลุมการฉายรังสีในระยะ 65 - 75 ตารางเซนติเมตร เคลื่อนไหวได้ความเร็วตํ่าสุด 2 เซนติเมตร/5 นาที และความเร็วสูงสุด 110 เซนติเมตร/นาที ยกโหลดนํ้าหนักวัตถุได้ 5 กิโลกรัม

ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์

3. รถนำทางอัตโนมัติ (Automated Guide Vehicle : AGV) สามารถเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่มีแถบแม่เหล็กกำหนดไว้ ตัวรถมีความเร็วในการเดินทางไม่ตํ่ากว่า 8 เมตร/นาที สามารถรับนํ้าหนักได้ถึง 500 กิโลกรัม ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เป็นระบบขับเคลื่อน 4. ระบบเครื่องจักรมองเห็น (Machine Vision) ทำหน้าที่ค้นหาสัญลักษณ์เพื่อประเมินผลคุณลักษณะของวัตถุภายในพื้นที่ โดยระบบจะจดจำวัตถุและออกคำสั่งการเคลื่อนที่ตามที่บันทึกไว้หรือรหัสบาร์โค้ด

จุดเด่นและประโยชน์ ของ UVC Moving Cobot คือ ผ่านการทดสอบจากสถาบันวัคซีน ม.มหิดลในประสิทธิภาพสูงถึง 99.99% แขนกลของหุ่นยนต์สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ จึงสามารถทำความสะอาดโต๊ะ ตู้ เตียง ชั้นวางสินค้า และฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้อย่างทั่วถึง ซึ่งมีความปลอดภัยอย่างมาก และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกันพัฒนาฟีเจอร์อัจฉริยะ อย่าง เทคโนโลยี Virtual Mapping ที่ช่วยกำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่เข้าหาวัตถุหรือสถานที่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และยังสามารถบังคับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ตามต้องการ ผ่านเครือข่าย 5G ทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้อัตโนมัติ ตลอด 24 ชั่วโมง ลดภาระงานหนัก และลดความเสี่ยงต่ออันตรายจากรังสี UV-C และลดการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

UVC Moving CoBot พื้นที่นี้ปลอดไวรัส

นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด มหาชน (เอไอเอส) กล่าวว่า เอไอเอสมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและขีดความสามารถของทีมงาน ร่วมมายกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับ UVC Moving CoBot ระบบหุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่ ที่ถือเป็นต้นแบบหุ่นยนต์อัจฉริยะที่จะพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ในอนาคต

ช่วยให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีไทย และคนไทยสามารถใช้นวัตกรรมในราคาประหยัด ลดการนำเข้าสร้างความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจและชีวิตประจำวัน นำมาซึ่งความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศนอกจากนี้ยังถือเป็นเป็นการบ่มเพาะบุคลากรด้าน Digital และ Robotic ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย 


หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,672 วันที่ 22 - 24 เมษายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

“Green Construction” เทคโนโลยีดิจิทัลเคลื่อนนวัตกรรมก่อสร้าง

นาโนเทค ผลักดัน นวัตกรรมฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระยอง 

แข่งนวัตกรรม‘กัญชา-กัญชง’ ทุนใหญ่-เล็กแห่ปล่อยของ ชิงเค้ก 2.1 หมื่นล้าน