ธ.ก.ส.ชงบอร์ดขอซอฟต์โลน อุ้มSMEs-โฮมสเตย์หมื่นล้าน

27 เม.ย. 2564 | 10:10 น.

แบงก์เด้งรับ หลังธปท.เปิดรับคำขอสินเชื่อฟื้นฟู- พักทรัพย์ พักหนี้ 26 เมษานี้ ธ.ก.ส.เตรียมเสนอบอรด์ 28 เม.ย.อนุมัติขอวงเงินธปท.1 หมื่นล้านบาท ช่วยลูกหนี้โฮมสเตย์-ท่องเที่ยวรายเล็กแบงก์เผย ทุกแห่งทาบลูกค้าล่วงหน้าแล้ว

 

หลังธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) ออกประกาศ 2 ฉบับคือ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข การยื่นคำขอสินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟูวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท) และหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะขอเข้ามาตรการโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท พร้อมเปิดให้สถาบันการยื่นขอกู้ได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 26 เมษายนนี้

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน2 ธปท.เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ที่ยื่นขอกู้สินเชื่อฟื้นฟูสามารถเบิกเงินจากธปท.ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยลูกหนี้ติดต่อขอกู้ได้ 3 ครั้งตามวงเงิน 30% ที่ไม่เกิน 150 ล้านบาทเช่น ระยะแรกเติมสภาพคล่อง เพื่อช่วยเรื่องค่าจ้างแรงงาน ค่านํ้าค่าไฟ ระยะสองสำหรับธุรกิจที่ต้องการกลับมาเปิดธุรกิจหลังจากปิดกิจการชั่วคราว และระยะที่ 3 ช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า ก่อนครบกำหนด 2ปี

ทั้งนี้หลักเกณฑ์ เงื่อนไขรอบนี้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้สถาบันการเงินกระจายสภาพคล่องช่วยเหลือลูกหนี้ภาคธุรกิจ นอกจากคิดอกเบี้ยได้สูงที่ 5% ยังผ่านการคํ้าประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งคํ้าประกันแบบกลุ่ม 40%และจัดแพ็กเกจสำหรับลูกค้ารายเล็ก การคํ้าประกันรายตัวจะสูงถึง 90% ซึ่งสองกลไกนี้ จะช่วยให้สถาบันการเงินปล่อยวงเงินให้กับลูกค้ารายใหม่และลูกค้าที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้นเพิ่มเติมได้ด้วย ส่วนลูกหนี้ก็มีภาครัฐช่วยจ่ายค่าธรรมเนียมคํ้าประกันของบสย.เช่น คํ้าประกันตลอดสัญญาของบสย.คือ 10 ปี ค่าธรรมเนียมต่อปี 1.75% รวมเป็น 17.5% ซึ่งรัฐจ่ายให้ 3.5% บนค่าธรรมเนียมคํ้าประกัน 17.5% โดยค่าธรรมเนียมคํ้าประกันที่รัฐจ่าย 3.5% จะทยอยชดเชยเพื่อลดภารของลูกหนี้ในปีที่ 3 ถึงปีที่ 7

สำหรับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้นั้น กรณีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 10 ล้านบาท แต่ทรัพย์หลักประกันมีมูลค่า 7 ล้านบาท จะตีโอนทรัพย์ในราคา 7 ล้านบาทที่เหลืออีก 3 ล้านบาทขอให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ต่อไป 

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร์ (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. เตรียมเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) ธนาคารในวันที่ 28 เมษายน เพื่อขออนุมัติในหลักการขอสินเชื่อฟื้นฟูกับธปท. เบื้องต้นมีลูกค้าโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ต้องการความช่วยเหลือจำนวนพอประมาณ คาดว่าน่าจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม ส่วนการพักทรัพย์ พักหนี้จะเห็นได้ราวเดือนมิถุนายน ปัจจุบันสาขาธนาคารแต่ละพื้นที่ได้สื่อสารถึงลูกค้าแล้ว โดยลูกค้าพักทรัพย์ พักหนี้จะเป็นกลุ่มท่องเที่ยว รีสอร์ทขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อย วงเงินต่อรายไม่สูงนัก เพราะลูกค้าธ.ก.ส.จะเป็นการทำที่พักท่องเที่ยว ในลักษณะโฮมสเตย์ เบื้องต้นจะขอวงเงินจากธปท.อย่างละ 5,000 ล้านบาท

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินกล่าวว่า ภารกิจของออมสินเน้นดูแลลูกค้าที่ประสบปัญหาจ่ายหนี้ไม่ได้ทั้งรายยอยและนิติบุคคลคือ รายกลางและเอสเอ็มอีรวม 8 แสนราย โดยในส่วนลูกหนี้รายกลาง และเอสเอ็มอี จะเน้นพักทรัพย์พักหนี้ก่อน โดยเฉพาะรายที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้เป็นเอ็นพีแอล ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูนั้นเป็นวงเงินใหญ่ จึงมีเวลาที่จะทยอยยื่นคำขอต่อธปท.แต่ยังไม่ระบุจำนวนเงินซึ่งรอบนี้ธปท.พยายามอย่างมากที่จะออกมาให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยได้สำรวจมาแล้วกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งออมสินในฐานะแบงก์รัฐก็พร้อมจะร่วมวงเช่นกัน

ด้านธนาคารพาณิชย์ระบุว่า ขณะนี้ทุกธนาคารทาบทามลูกค้าไว้ล่วงหน้า โดยแบ่งทีมเจรจา 3 กลุ่มคือ ซอฟต์โลนรอบใหม่, ทีมพักทรัพย์และทีมพักหนี้ เพราะการฟื้นฟูครั้งนี้ แม้จะโอนทรัพย์ชำระหนี้แล้วยังคงเหลือหนี้บางส่วนต้องเข้าสู่กระบวนการพักหนี้ต่อไป 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,673 วันที่ 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2564