“ใหญ่”ฟัด“ใหญ่” ไม่มีศาลไหนยอมศาลใด

23 เม.ย. 2564 | 01:05 น.

“ใหญ่”ฟัด“ใหญ่” ไม่มีศาลไหนยอมศาลใด : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3673 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-28 เม.ย.2564 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

มหากาพย์ว่าด้วย “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่อนุญาโตตุลาการตัดสินให้รัฐไทยต้องจ่ายเงินให้กัลบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ทั้งต้นทั้งดอกเบี้ยราว 2.4 หมื่นล้านบาท ยังกลายเป็นหนังม้วนยาวที่ผู้รับผิดชอบจะต้องต่อสู้ในทางข้อกฎหมายกันอีกยาวนาน

โบราณว่า ค้าอะไรก็ได้ แต่อย่า “ค้าความ” เพราะจะเป็นเรื่องชวนปวดหัวไม่รู้จบไม่รู้สิ้น

ข้อกฎหมายมาตราเดียวตีความกันไปตามแต่ใจของใครจะว่า แถมผู้คนมีรสนิยมอันวิไลย์ว่า ด้วยเรื่อง “การตีความ-บิดตัวอักษร” เสียด้วยสิ

เรื่องดีๆ จึง  “Go so Big”

วันที่ 17 มี.ค.2564 ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินร้องว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันที่ 27 พ.ย. 2545 ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 44 กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197 ขอให้สั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว เรื่องพิจารณาที่ ต. 59/2563 

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมากว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง เป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ 

ทุกคนในสังคมเข้าใจกันว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการเริ่มนับอายุความคดีปกครอง เช่น คดีโฮปเวลล์ เนื่องจากมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 นั้น กำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่  คือ “วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ” ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 แตกต่างจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 51 ที่บัญญัติว่า ให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่ “วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” 

แต่ผู้พิพากษาศาลปกครองอย่างน้อย 2 คนบอกกับผมว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับคดีโฮปเวลล์ที่สิ้นสุดไปแล้ว หากแต่เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักการของกฎหมายเท่านั้นว่า “ให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่รู้ หรือ ควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”

ดังนั้น คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดที่เห็นชอบตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดร่วม 2.47 หมื่นล้านบาท ยังมีผลอยู่

อย่างไรก็ตาม ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 75 บัญญัติถึงวิธีการยื่นให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ แม้ว่าคดีนั้นจะสิ้นสุดไปแล้ว โดยในมาตรา 75 (4) บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ทำขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด และต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

การยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคู่กรณีหรือบุคคลภายนอกไม่ทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาคดีครั้งที่แล้วมา โดยมิใช่ความผิดของผู้นั้น 

และการยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดี หรือ มีคำสั่งใหม่ต้องกระทำภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ผู้นั้นได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุ ซึ่งอาจขอให้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ได้ แต่ไม่เกินห้าปีนับแต่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด”

ดังนั้น ในกรณีโฮปเวลล์เมื่อมีข้อเท็จจริงใหม่ หรือข้อกฎหมายที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดต่อกฎหมายที่บังคับในขณะนั้น คู่กรณี คือ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. สามารถยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุ... 

เป็นไปตามคาดสิครับ...17 มีนาคม 2564 นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปประชุมกับคณะทำงานเจรจาเพื่อลดผลกระทบภาครัฐอันเนื่องจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีโฮปเวลล์ที่มี พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อสู้คดีโฮปเวลล์ต่อไป 

ระหว่างทางของการต่อสู้ทางคดีนั้น ศาลปกครองก็ตีตกคำขอทุเลาของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นระลอก วันที่ 9 เม.ย.2564 ศาลปกครองกลางก็ดับฝันกลางวัน ด้วยการมีคำสั่งยกคำของดหรือทุเลาการบังคับคดี ในคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562 ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยจ่ายค่าชดเชย 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 

ศาลฯให้เหตุผลว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223 โดยให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น แม้ว่าต่อมากระทรวงคมนาคม และ รฟท. อ้างว่า อยู่ระหว่างดำเนินการทางศาล โดยกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสุงสุดครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หรือไม่ 

และ รฟท.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกทั้งกระทรวงคมนาคมและ รฟท. ได้ดำเนินการสอบสวนเพื่อหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งและทางวินัยจากการกระทำผิดในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพ (โฮปเวลล์) 

แต่ในชั้นนี้ ศาลฯเห็นว่า กรณีดังกล่าว ไม่เป็นเหตุที่จะเข้าเงื่อนไขในการงดการบังคับคดี ตามระเบียบข้อ 131 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 การทุเลาการบังคับคดีนั้น ไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลในการทุเลาการบังคับคดี ประกอบกับคดีนี้ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามมาตรา 73 วรรคสี่ แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 ศาลฯจึงไม่อาจมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีได้เช่นกัน---จบกัลลล....

ทางออกของการสู้คดีนี้จึงอยู่ที่จุดเดียวเท่านั้นคือ กระทรวงคมนาคม การรถไฟฯ ประกาศเดินหน้าต่อสู้ดคีต่อ โดยยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้มีการพิจารณาคดีใหม่ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดคดีโฮปเวลล์เรื่องปัญหาเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองที่ขัดรัฐธรรมนูญ...  

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา5 นั้นเขียนชัดเจนว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”...

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเปิดช่องให้กระทรวงคมนาคม การรถไฟฯ สามารถรื้อคดีขึ้นมาใหม่ได้ เพราะมีหลักฐานใหม่เรื่องของการนับอายุความในการฟ้องร้องคดีของโฮปเวลล์  

สู้หรือไม่สู้เท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติแล้วศาลปกครอง ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองที่เรียกว่า กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง (Administrative Justice) นั้น คงไม่ยอมให้ใครมาข้ามเขตอำนาจศาลของตัวเองอยู่แล้ว 

งานนี้ไม่มีศาลไหนยอมศาลไหนดอกครับพี่น้อง....