75 ปี พรรคประชาธิปัตย์ ก้าวต่อไปอย่างไร

23 เม.ย. 2564 | 06:10 น.

75 ปี พรรคประชาธิปัตย์ ก้าวต่อไปอย่างไร :คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน  โดย... ประพันธ์ุ คูณมี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,673 หน้า 10 วันที่ 25 - 28 เมษายน 2564

พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 นับถึงปัจจุบันก็มีอายุครบรอบ 75 ปี ถือเป็นพรรค การเมืองที่มีอายุยาวนานและเก่าแก่ที่สุดของพรรคการเมืองไทย เป็นพรรคที่มีเกียรติประวัติทางการเมือง โดยอาจเปรียบเทียบได้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ที่มีบทบาทและความสำคัญต่อประเทศนั้นๆ เช่น พรรคคองเกรสของอินเดีย( Indian Nation Congress) ก่อตั้งเมื่อปี 2428, พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (Communist Party of China) ก่อตั้งเมื่อปี 2464  ปีนี้ก็ครบรอบ100 ปีพอดี, พรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม ก่อตั้งเมื่อปี 2473 ปีนี้ครบรอบ 91 ปี, พรรคเสรีประชาธิปไตย ญี่ปุ่น (Liberal Democratic Party) ก่อตั้งเมื่อปี 2498, หรือ พรรคอัมโน ประเทศมาเลเซีย (United Malays Nation Organisation ) หรือ UMNO พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ก่อตั้งเมื่อ 11 พฤษภาคม ปี 2489 ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์เพียง 1 เดือน 

แต่ทุกพรรคการเมืองที่กล่าวมา ล้วนเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทในการสร้างชาติของแต่ละประเทศของตนทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมือง จึงมีความหมายและความสำคัญ ต่อพัฒนาการของบ้านเมืองในแต่ละประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยพรรคการเมืองเหล่านั้นได้พัฒนาตนกลายเป็นองค์กรนำของชาติ ได้หลอมรวมเอาบุคคลสำคัญชั้นยอดของประเทศ ที่มีความรู้ความสามารถและมีศักยภาพที่สุดในสังคม มารวมกันด้วยอุดมการณ์ เพื่อทำงานร่วมกันในการสร้างประเทศและพัฒนาชาติบ้านเมืองของตน นำพาประเทศชาติก้าวสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดังที่เห็นและปรากฎในปัจจุบัน 

โดยพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ในบรรดาพรรคการเมืองที่กล่าวมา ต้องยอมรับว่า คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ที่สามารถนำพาประเทศและประชาชนจีนก้าวสู่ความเจริญรุ่งเรืองขั้นสูงสุด จากประเทศยากจนล้าหลังที่สุด กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีขนาดของเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลก และกำลังจะก้าวเป็นอันดับหนึ่งในเร็วๆ นี้ 

75 ปี ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นช่วงเวลาอันยาวนานมากของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของพรรค การเมืองไทย บนหนทางการต่อสู้เพื่อชาติและประชาธิปไตยของประเทศ พรรคได้ผ่านความสำเร็จและความล้มเหลว ได้รับชัยชนะและความแพ้พ่ายในทางการเมืองหลากหลายรูปแบบ ได้ผ่านความเป็นเอกภาพและความขัดแย้งภายในพรรคมาหลายครั้ง แทบล่มสลาย  

ได้ผ่านการต่อสู้ทางความคิดและความขัดแย้งในแนวทางการเมืองภายในพรรคมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งเคยเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการมาอย่างโชกโชน เคยก้าวไปสู่ความสำเร็จสูงสุดมีหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 3 ท่าน และเคยตกตํ่าถึงขีดสุดก็มีมาแล้ว แต่ พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงยืนอยู่และยืนเด่นโดยท้าทาย ยังเป็นพรรคการเมืองที่ยังไม่ตาย มีลักษณะเป็นพรรคของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนตลอดมา โดยไม่มีใครเป็นนายทุนใหญ่ หรือเป็นเจ้าของบงการพรรคแต่ผู้เดียวตราบจนปัจจุบัน

ปัญหาสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันคือ พรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นพรรคการเมืองที่มีพรรคภาพอย่างไร และจะเป็นพรรคการเมืองแบบไหนมีจุดยืนอย่างไรในสายตาประชาชน รวมถึงจะมีบทบาทอย่างไรต่อประเทศ เพื่อการนำพาชาติบ้านเมืองก้าวสู่อนาคตในศตวรรษต่อไป ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโลยียุคดิจิทัล และความผันผวนของโลกยุคปัจจุบัน หรือจะเป็นพรรคการเมืองเพียงแค่เป็นองค์ประกอบของการเลือกตั้งเท่านั้น คือเป็นพรรคที่รวมของนักเลือกตั้งทั่วๆ ไป 

 

นี่คือปัญหาและโจทย์ข้อใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ควรจะสำรวจและค้นหาตัวตนของตัวเอง เพื่อทำให้ 75 ปีของพรรคมีความหมายและความสำคัญต่อประเทศชาติบ้านเมือง

ในทัศนะและมุมมองของผู้เขียน ในฐานะผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้า ติดตามปัญหาของชาติบ้านเมืองมาโดยตลอด และเป็นผู้ให้ความสนใจต่อความเป็นไปของพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่ง จึงอยากเห็นพรรคการเมือง ที่มีอายุยาวนานและเก่าแก่ที่สุดพรรคนี้ ซึ่งเปรียบประดุจสมบัติที่มีค่าต่อประเทศชาติและประชาชนก็ว่าได้ ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองอยู่คู่สังคมไทย ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงและยกระดับพรรคของตน ให้มีความหมายและความสำคัญในระดับสูงยิ่งๆ ขึ้น ต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย  

 

75 ปี พรรคประชาธิปัตย์ ก้าวต่อไปอย่างไร

 

ผู้เขียนจึงใคร่เสนอความคิดเห็นต่อบรรดาผู้นำพรรค มวลสมาชิก และประชาชนผู้สนับสนุนพรรค เพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำไปพิจารณา ถือเสียว่าเป็นความหวังดีจากประชาชนคนหนึ่ง ที่อยากเห็นพรรคการเมืองพรรคนี้ เป็นเสาหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และมีบทบาทในการสร้างชาติสร้างประเทศไทย ให้ก้าวพ้นจากความล้าหลัง สู่ประเทศที่พัฒนาโดยสมบูรณ์ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับพรรคมากยิ่งกว่าไปทะเลาะกับใครๆ

พรรคจึงควรกำหนดเป้าหมายสำคัญของพรรค ปชป.ว่าควรเป็นพรรคแบบไหน มีพรรคภาพอย่างไรในสายตาประชาชน เพื่อมุ่งสู่การแบกรับภารกิจใดของชาติ และจะเป็นศูนย์รวมของบุคลากรอย่างไร เป็นตัวแทนที่ประชาชนวางใจได้อย่างไร นี่คือหลักไมล์สำคัญของพรรค ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 75 ปี ปชป.ไม่ใช่พรรคที่มีเพียงภารกิจการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะนั่นมิใช่เป้าหมายสูงสุดของพรรคการเมือง  

พรรคควรวางเป้าหมายของตนให้เป็นพรรคของชาติ (National Party) คือทำให้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นที่รวมของบุคลากรสำคัญ ที่มีความรู้ความสามารถ มีอุดมการณ์และความกล้าหาญ เสียสละที่สุดของชาติ เพื่อร่วมกันทำภารกิจในการสร้างประชาธิปไตย และสร้างชาติไทยสู่ความเจริญก้าวหน้าสูงสุด ทัดเทียมประเทศที่เจริญและพัฒนาแล้ว เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศแถวหน้าของโลกในศตวรรษใหม่

 

ปชป.ควรวางตนและแสดงจุดยืน เป็นเสาหลักให้กับการเมือง การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการปฏิบัติที่เป็นจริง เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชน ในความยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง ต่อต้านคัดค้านในสิ่งที่ผิด ความไม่ถูกต้องและการกระทำที่ไร้ความชอบธรรมทั้งปวงอย่างเข้มแข็ง  

เป็นเสาหลักกลางนํ้าเชี่ยวให้กับประเทศชาติและประชาชน โดยพรรคต้องแสดงความมีวุฒิภาวะในการสามัคคีประชาชนทุกหมู่เหล่า เปิดกว้างให้ทุกคนที่มีความรู้ความสามารถ หรือแม้แต่กระทั่งไปกราบไหว้เชิญชวนคนดี คนเก่งให้มาร่วมงานกันรับใช้บ้านเมือง โดยส่งเสริมบทบาทให้ทุกๆ คนได้ทำงานเต็มศักยภาพของตน จัดระบบการนำภายในพรรคให้เป็นทีมแบบผู้นำร่วมกัน (Collectives Leaderships) ส่งเสริมบทบาทสมาชิกที่มีความรู้ คุณธรรม และความสามารถ

การวางเป้าหมาย ความเป็นพรรค การเมืองของชาติ( National Party) คือการยกระดับและพัฒนาพรรคไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ เป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะและจุดยืนของพรรคเสียใหม่ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ ที่มีความแตกต่างจากพรรคการเมืองโดยทั่วไป โดยต้องมีแผนปฏิบัติรองรับ มิใช่สักแต่พูดแต่ต้องทำให้เป็นจริง  

เป้าหมายสำคัญนี้ควรเป็นเป้าหมายใหม่ร่วมกันของทั่วทั้งพรรค โดยมียุทธวิธีมารองรับการปฏิบัติสู่เป้าหมายร่วมกัน ซึ่งผู้นำพรรคต้องเป็นผู้ยึดกุมเป้าหมายนี้ อย่างเคร่งครัดจริงจัง ทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อก้าวเดินไปด้วยกัน  

เช่นนี้แล้ว 75 ปีของพรรค ก็จะไม่ถูกค่อนแคะว่า “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” จึงจำเป็นที่จะต้องพลิกบทบาทพรรค สู่เป้าหมายใหม่ที่ท้าทาย ดีกว่านั่งนับอายุพรรคไปวันๆ โดยไม่มีเป้าหมายใหม่ให้วิ่งชนครับ 

ที่พูดมาทั้งหมด ขอเรียนยํ้าว่าวิจารณ์และเสนอแนะแบบสร้างสรรค์เท่านั้น หวังว่าคง ไม่เคือง ไม่โกรธและไม่ด่าสวนกลับมาน่ะครับ