อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 31.28 บาท/ดอลลาร์

22 เม.ย. 2564 | 00:28 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบกว้างต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนมากรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.28 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.33 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนจะยังคงกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ทว่า รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีเกินคาดและมีการให้แนวโน้มผลประกอบการ (Earning Guidance) ที่สดใส ได้ช่วยพยุงภาพบรรยากาศการลงทุนในตลาดและช่วยให้ตลาดหุ้นโดยรวมสามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ โดยในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell2000 ปรับตัวขึ้นกว่า 2.3% ตามมาด้วย ดัชนี S&P500 ที่่ปิดบวก 0.9% ส่วน ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็สามารถรีบาวด์ขึ้นมาราว 1.2% หลังจากที่ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทรงตัว ส่วนในฝั่งยุโรป นักลงทุนได้กลับเข้ามาซื้อหุ้นในกลุ่ม Cyclical จากความคาดหวังว่า รายได้และกำไรจะเร่งตัวขึ้นได้ หากปัญหาการระบาดสงบลง หนุนให้ดัชนี STOXX50 รีบาวด์ขึ้นมาราว 0.9% เช่นกัน

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดการเงินจะยังคงผันผวนต่อและอาจจะยังไม่กลับไปเป็นขาขึ้นที่ชัดเจน โดยหากสถานการณ์การระบาดเลวร้ายลง และการแจกจ่ายวัคซีนก็มีปัญหา อาจจะทำให้ผู้เล่นในตลาดลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งอาจตัดสินใจได้ไม่ยาก เนื่องจากตลาดหุ้นส่วนใหญ่ก็ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับนิวไฮและในเชิง Valuation ก็ไม่ได้ถูกมาก

 

อนึ่ง ความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงอยู่นั้น น่าจะถูกสะท้อนผ่านตลาดบอนด์ โดยผู้เล่นในตลาดยังคงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 1.55% ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะให้ยีลด์ปรับตัวขึ้น (ราคาบอนด์ลง) ก่อนจะเข้าซื้อ หรือเป็น Dip Buyers ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบไปก่อนในระยะสั้นนี้

 

ในส่วนตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงราว 0.2% สู่ระดับ 91.11 จุด โดยเงินดอลลาร์ถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของ เงินแคนาเดียนดอลลาร์ (CAD) ที่แข็งค่าขึ้นกว่า 1.2% สู่ระดับ 1.25 แคนนาเดียนดอลลาร์/ดอลลาร์ หลังจากที่ธนาคารกลางแคนาดา (BOC) ประกาศปรับลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์หรือทำคิวอี และมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจทำได้เร็วขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี

 

สำหรับวันนี้ นอกเหนือจาก ประเด็นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก และสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ตลาดจะให้ความสนใจ ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดมองว่า ECB จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อช่วยประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป โดย ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ระดับ -0.50% พร้อมกับเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงินผ่านการซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) ทำให้ในวันนี้อาจต้องจับตาทิศทางการเคลื่อนไหวของสกุลเงินยูโร (EUR) รวมถึงสินทรัพย์ในยุโรปที่อาจได้รับผลกระทบจากผลการประชุมของ ECB ทั้งนี เรามองว่า ตลาดการเงินอาจจะไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก เนื่องจาก ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปน่าจะถูกรับรู้ไปแล้วพอสมควร (Priced-In) และตลาดจะให้น้ำหนักกับการทยอยเปิดประเทศหลังปัญหาการระบาดคลี่คลายลงมากกว่า

 

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท ในระยะสั้น ค่าเงินบาทยังเผชิญหลายปัจจัยกดดันให้มีโอกาสอ่อนค่า อาทิ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศและรอบโลก รวมทั้ง โฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบกว้างต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนมากรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ส่งออกก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.20 - 31.35 บาทต่อดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (22 เม.ย.) ปรับตัวอยู่ใกล้ๆ แนว 31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ท่ามกลางแรงกดดันต่อทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา หลังจากที่ธนาคารกลางแคนาดาส่งสัญญาณเตรียมลดระดับการผ่อนคลายทางการเงิน ที่ดำเนินการผ่านมาตรการ QE โดยจะเริ่มลดวงเงินซื้อสุทธิพันธบัตรต่อสัปดาห์ลงมาอยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์แคนาดา (จากเดิมกำหนดไว้ที่ 4 พันล้านดอลลาร์แคนาดา นอกจากนี้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ  ยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ที่ยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าแนว 1.60%  
  
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด 19 ทั่วโลกและในประเทศ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และยอดขายบ้านมือสองเดือนมี.ค.