"ASPS"คงเป้าดัชนี 1,670 จุด โควิดระลอกใหม่กระทบวงจำกัด

21 เม.ย. 2564 | 07:22 น.

"เอเซีย พลัส" คงเป้าหมายดัชนี 1,670 จุด แรงหนุนจากสภาพคล่องส่วนเกิน คาดเศรษฐกิจปี 64 ยังขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2.0% ผลกระทบโควิดระลอกใหม่อยู่ในวงจำกัด พร้อมแนะน้ำหนักลงทุนหุ้นต่างประเทศ ธีมรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด 

 

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซีย พลัส หรือ ASPS กล่าวว่า ยังคงมุมมองบวกต่อแนวโน้มตลาดหุ้นไทยปีนี้ ถึงแม้ช่วงสั้นตลาดหุ้นไทยจะเผชิญการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่  โดยได้รับปัจจัยหนุนหลักจากสภาพคล่องส่วนเกินที่อยู่ในระบบค่อนข้างมากและจะค่อยๆไหลเข้ามายังตลาดหุ้น สะท้อนจากเงินฝากในระบบที่ปัจจุบันมีกว่า 15.72 ล้านล้านบาท และเริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นทั้งจากการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ล่าสุด เดือน ก.พ.64 มียอดการเปิดบัญชีใหม่ถึง 2.7 แสนบัญชี ซึ่งสูงกว่า 8 เท่าของการเปิดบัญชีใหม่ต่อเดือนในอดีต ขณะที่การลงทุนผ่านกองทุนรวมให้น้ำหนักลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนด้วย

ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ประเมินว่าจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น เนื่องจากไม่มีการล็อกดาวน์และไม่มีการประกาศใช้เคอร์ฟิว นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีมาตรการอัดฉีดเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนี่อง รวมทั้งการเร่งทยอยฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดในแต่ละเดือน  ทั้งนี้ในเบื้องต้นมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะสามารถเติบโตได้ 2% ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ว่าจะเติบโตได้ราว 2.6%

สำหรับเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปี 2564 ยังคงไว้ที่ 1,670 จุด บนคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) ไว้ที่ 70.2 บาท/หุ้น ต่ำกว่า Consensus ของ Bloomberg ที่ 79.6 บาท/หุ้น ซึ่งมีโอกาสที่สายงานวิจัยจะปรับเพิ่มคาดการณ์ขึ้น เนื่องจากหากดูโครงสร้างกำไรหลักของตลาดหุ้นไทย  กว่าหนึ่งในสามมาจาก Commodity ที่มีราคาทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าที่ประมาณการไว้ และอีกราว 20% มาจากกลุ่มธนาคาร เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 นี้จำกัดเช่นกัน

"ปัจจุบันยังเห็น Momentum การย้ายเม็ดเงินจากสินทรัพย์ปลอดภัยมาสู่สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอยู่ เพราะว่า Bond Yield ระยะยาวปรับตัวขึ้นเร็ว แต่ Bond Yield ระยะสั้นยังอยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายมานานกว่า 8 เดือน ทำให้นักลงทุนเริ่มค้นหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจกว่าอย่างเช่นตลาดหุ้น และยังสอดคล้องกับสถิติในอดีต ช่วงหลังปี 2552 ที่เมื่อ Bond Yield ระยะยาวขยับขึ้น และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นยังอยู่ในระดับต่ำ มักจะตามมาด้วยตลาดหุ้นที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น” 

นายเทิดศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมทั้งสภาพคล่องส่วนเกิน บวกกับปัจจัยหนุนที่หลากหลายเกือบทุกด้าน พร้อมแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2564 คาดฟื้นตัวเด่นกว่า 32% อีกทั้งปลายเดือน เม.ย.64 มักจะมีแรงเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นปันผลเสมอ  ทางฝ่ายวิจัยจึงมีมุมมองตลาดหุ้นไทยเดือนเม.ย.มีโอกาส Outperform ได้ตามสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยสูงสุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ ที่ 3.1%

แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในช่วงไตรมาส 2/64 มีหุ้นสวยทั้งภายใน (Valuation ดี) และภายนอก (มีปัจจัยสนับสนุน) พร้อมกับได้ประโยชน์ หากตลาดหลักทรัพย์เปลี่ยนวีธีการคำนวณดัชนีเป็นแบบ Free Float Adjusted Market Cap อย่าง BBL, BDMS, STEC, SCC, SPALI และ BLA สำหรับหุ้นที่มี Market Cap ไม่ใหญ่ แต่มีการเติบโตของกำไรสูงที่น่าสนใจ ได้แก่ AS

ด้านนายภาดร สุขสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า น้ำหนักการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ ยังคงให้น้ำหนักส่วนใหญ่ในหุ้นไทย และหุ้นต่างประเทศ โดยสัดส่วนหุ้นไทย 35% และหุ้นต่างประเทศ 35% เนื่องจากในไตรมาส 2 ปี 64 IMF มีการปรับการคาดการณ์ GDP โลกจะขยายตัวถึง 6%  ประกอบกับการกระจายวัคซีนในต่างประเทศเป็นไปด้วยดี ส่งผลเชิงบวกกับตลาดลงทุนในต่างประเทศจึงเป็นโอกาสที่จะกระจายการลงทุนเพื่อสร้างทางเลือก

“งบดุลของธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยหนุนสภาพคล่องของสินทรัพย์เสี่ยงในกลุ่มทั่วโลก ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในต่างประเทศ นอกจากหุ้นไทยเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนระยะยาว” คุณภาดร กล่าว

ขณะที่ฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ ASPS ให้มุมมองเพิ่มเติมการลงทุนต่างประเทศในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตดีในระยะยาว จากอานิสงค์แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และช่วยพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้กับบริษัทยานยนต์ รวมถึงให้เงินลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ผนวกกับราคารถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องขณะที่ตัวรถและแบตเตอรี่ ก็ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น   

นางสาวกกฤตยภรณ์ ธาดาสีห์ หัวหน้าฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ กล่าวเสริม ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ ที่ออกนโยบายส่งเสริมการลดคาร์บอน ประเทศจีนก็ตั้งเป้าลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2060 เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาแม้ตัวเลขการส่งมอบรถอาจยังไม่สูงมาก และบริษัทส่วนใหญ่ยังขาดทุน แต่ถ้าบริษัทเหล่านี้ผลิตได้มากขึ้น ต้นทุนในการผลิตก็จะยิ่งลดลง ก็จะเริ่มทำกำไรได้เร็วขึ้นเช่นกัน แต่แน่นอนว่า Tesla ฝั่งสหรัฐฯยังเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่ทำกำไรติดต่อกันหลายไตรมาสแม้ตัวเลขส่งมอบรถปี 63 อยู่ที่ประมาณ 5 แสนคันเท่านั้นแต่มีมูลค่าตลาดสูงกว่าบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่หลายเจ้ารวมกัน

สัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปัจจุบัน คิดเป็น 4-5% ของยานยนต์ทั่วไปขณะที่รายงานของ Bloomberg คาดสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% ภายในปี2025 และเป็น 28% ภายในปี 2030 ประกอบกับแนวโน้มต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ต่ำลง ส่งผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าก็จะถูกลง จึงมองว่าอุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคต

“อีกหนึ่งธีมการลงทุนที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีสอดคล้องไปกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ก็คือพลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศให้การสนับสนุนการผลิตและใช้งานพลังงานทดแทนนี้ภายในประเทศ ทำให้ต้นทุนการปรับใช้พลังงานสะอาดมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งจะสะท้อนมายังการใช้งานทั้งในภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นในอนาคต”