“จุรินทร์”ลุยจัดแมชชิ่งออนไลน์ จับมือเอกชนฝ่าวิกฤติโควิดรอบใหม่

21 เม.ย. 2564 | 07:10 น.

“จุรินทร์”สั่งทีมเซลส์แมนพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน ภายใต้วิกฤตโควิด-19 เตรียมลุยจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์เพิ่มยอด ตั้งเป้าปีนี้ขายได้ไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้าน มีแผนจัดในช่วง 9 เดือนที่เหลือ 85 ครั้ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการมอบนโยบายให้กับทีมเซลส์แมนจังหวัดในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Webinar ภายใต้โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Saleman จังหวัด Go-inter ที่สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินร่วมกับภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และภาคเอกชนส่วนอื่นๆ เห็นตรงกันว่าส่งออกของไทยได้พ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว และกำลังจะทะยานขึ้น สามารถทำตัวเลขส่งออกดีขึ้นเป็นลำดับ หลังจากที่ทำตัวเลขต่ำสุดในช่วงที่เจอวิกฤตโควิด-19 สงครามการค้า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เมื่อกลางปีที่แล้ว คือ ช่วงเดือนพ.ค.2563 ติดลบ 22% มิ.ย.ลบ 23% และจากนั้นติดลบน้อยลง มาถึงธ.ค.บวก 4.7% และเริ่มปี 2564 ม.ค.บวก แต่ก.พ.ลบ ถ้าเอาทองคำ ยุทธปัจจัย หรือน้ำมันออกไป ภาคส่งออกจริงก็ยังเป็นบวก และเดือนมี.ค.2564 คาดการณ์ว่าจะบวกไม่น้อยกว่า 8% ซึ่งตัวเลขจริงจะออกปลายสัปดาห์นี้

“จุรินทร์”ลุยจัดแมชชิ่งออนไลน์  จับมือเอกชนฝ่าวิกฤติโควิดรอบใหม่
         
“การส่งออกของไทย มีสัญญาณที่ดี มีสภาพเป็นตัวยู ลงมาต่ำสุด และกำลังทะยานขึ้นเป็นลำดับ จึงต้องการเรียนให้พี่น้องประชาชน ได้มีความอุ่นใจในสถานการณ์ที่เราเข้าใจว่าประเทศกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ยังติดปัญหาอุปสรรค แต่การส่งออกยังเดินหน้าได้ ถือเป็นตัวขับเคลื่อนปัจจุบันและในอนาคต ภายใต้การร่วมมือทำงานของทีมงานพาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชน และทีมเซลส์แมนจังหวัด ทีมเซลส์แมนประเทศ”


         

  สำหรับแผนการเพิ่มรายได้จากการส่งออก ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกผ่านระบบการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ มีผลให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19 ได้ร่วมมือกับเอกชนปรับรูปแบบเจรจาเพื่อการส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ มาใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น และช่วงหลังนี้ ดูเหมือนใช้เกือบจะเต็มรูปแบบ เพราะไม่มีทางอื่น โดยมีการนำนวัตกรรมทางการตลาดรูปแบบใหม่ๆ มาใช้เป็นรูปแบบไฮบริด เช่น โครงการ Mirror Mirror ที่เป็นการส่งตัวอย่างสินค้าไปแสดงที่ประเทศปลายทาง และเมื่อมีผู้ซื้อ ผู้นำเข้าสนใจ ก็เจรจาธุรกิจผ่านทางออนไลน์ รวมทั้งได้เพิ่มกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ซึ่งผู้ซื้อ ผู้นำเข้ารออยู่ในประเทศตัวเอง ทีมเซลส์แมนประเทศจะเป็นผู้ประสานงานให้ แล้วมาเจรจาซื้อขายกับผู้ส่งออกของไทย ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี

“จุรินทร์”ลุยจัดแมชชิ่งออนไลน์  จับมือเอกชนฝ่าวิกฤติโควิดรอบใหม่
        

 “ปีที่แล้ว เฉพาะการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ทำยอดขายได้ 15,000 ล้านบาท ปี 2564 ตั้งเป้าหมายภายใต้วิกฤตโควิด-19 จะทำตัวเลข 16,000 ล้านบาท คาดว่าคงจะเกิน เพราะเป็นตัวเลขขั้นต่ำที่ประเมินไว้เบื้องต้น และที่ผ่านมา ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ได้ดำเนินการเจรจาจับคู่ไปแล้ว 33 ครั้ง เซ็นสัญญาซื้อขาย 992 คู่ ขายสินค้าให้กับผู้ส่งออกไทย 325 ราย ผู้นำเข้ามาซื้อ 345 ราย ช่วยยอดซื้อขาย 5,280 ล้านบาท และใน 3 ไตรมาสที่เหลือถึงธ.ค.2564 หรือประมาณ 9 เดือน ได้กำหนดแผนงานไว้ชัดเจน เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยมีความหวัง กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้านำรายได้เข้าประเทศ แม้จะเป็นช่วงวิกฤตโควิด-19”
         
 

ทั้งนี้ รายละเอียดการทำงานในช่วง 9 เดือนที่เหลือ ได้กำหนดเป้าหมายจะจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจรวม 85 ครั้ง จัดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยทีมพาณิชย์ เซลส์แมนจังหวัด เซลส์แมนประเทศ และภาคเอกชน จะทำงานร่วมกัน ตั้งเป้าจับคู่ให้ได้ 2,500 คู่ มีผู้ส่งออก เซ็นสัญญาซื้อขาย 750 ราย มูลค่า 10,600 ล้านบาท โดยมีตัวอย่างการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เช่น เดือนพ.ค.2564 เจรจากับวอลล์มาร์ท สหรัฐฯ และเจรจากับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าแอฟริกาใต้ , ก.ค.2564 เจรจาซื้อขายสินค้าฮาลาล อาหารเพื่อสุขภาพ , ส.ค.2564 เจรจาจับคู่ขายผลไม้ภาคใต้ ส่วนผลไม้ภาคอื่นได้ดำเนินการอยู่สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และธ.ค.2564 เจรจาจับคู่เครื่องจักรกล เป็นต้น
         
นอกจากนี้ ในการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ได้ตั้งเป้าหมายเปิดพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอีในต่างจังหวัด ให้มีโอกาสขายสินค้าส่งออกได้เพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาของกิจกรรมในวันนี้ โดย NEA จะเป็นผู้เชิญวิทยากรและผู้มีประสบการณ์มาให้ความรู้ คำแนะนำ การแสวงหาตลาดต่างประเทศต้องทำอย่างไร การบริหารจัดการส่งออกทำอย่างไร ปิดการขายทำอย่างไร ทำสัญญาอย่างไร เพราะหากเจรจาไม่เป็น สุดท้ายกลับบ้านมือเปล่า ซึ่งทั้งหมดนี้ จะให้ความรู้กับทีมเซลส์แมนจังหวัด หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกร และบิสคลับ เพื่อเป็นแม่ไก่นำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับเอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ ต่อไป และจากนั้น NEA จะติดตามว่ามีเอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอีรายใดบ้างที่มีศักยภาพ ก็จะนำมาร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เพื่อที่จะได้พบกับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ผ่านการติดต่อของเซลส์แมนประเทศต่อไป