อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 31.29 บาทต่อดอลลาร์

21 เม.ย. 2564 | 00:33 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังเผชิญหลายปัจจัยกดดันให้มีโอกาสอ่อนค่า มากกว่าจะแข็งค่า

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังเผชิญหลายปัจจัยกดดันให้มีโอกาสอ่อนค่า มากกว่าจะแข็งค่า 2ปัจจัยที่ตลาดจะยังคงติดตาม “รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกและสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก”

 

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.29 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.27 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า วันนี้ ปัจจัยที่ตลาดจะยังคงติดตาม คือ 1. รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ซึ่งหากผลประกอบการดีกว่าคาดและมีการปรับประมาณการแนวโน้มผลกำไรในอนาคต ก็อาจจะพอช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนและช่วยให้ตลาดไม่ได้ปรับฐานหนักจากความกังวลปัญหาการระบาด COVID-19 ได้บ้าง และ 2. สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ที่เริ่มกลับเข้ามากดดันภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น หลังจากที่หลายประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และยังมีการแจกจ่ายวัคซีนที่น้อย อาทิ อินเดีย แคนาดา กลุ่มประเทศละตินอเมริกา รวมถึง สหภาพยุโรป ยังคงเผชิญการระบาดที่รุนแรงมากขึ้น

 

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า ในระยะสั้น ค่าเงินบาทยังเผชิญหลายปัจจัยกดดันให้มีโอกาสอ่อน

ค่า มากกว่าจะแข็งค่า อาทิ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รอบโลก ที่เริ่มกลับเข้ามากดดันให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกที่จะถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ เพื่อหลบความผันผวนชั่วคราว หรือแม้กระทั่ง ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ในประเทศ ที่กดดันให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่กล้าเข้ามาถือสินทรัพย์เสี่ยงไทยเพิ่มเติม นอกจากนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบกว้างต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนมากรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ส่งออกก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์   มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.25 - 31.35 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หลังจากที่รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ไม่ได้ออกมาดีเกินกว่าการคาดการณ์ของตลาดไปมากนัก ขณะเดียวกัน ตลาดก็เริ่มกลับมากังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฝั่งประเทศที่ยังมีการแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า เช่น ยุโรป อินเดีย เป็นต้น ซึ่งภาพดังกล่าว กดดันให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขาย หุ้นในกลุ่ม Cyclical ออกมา อาทิ หุ้นในกลุ่ม Industrial และ หุ้นสายการบินหรือเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดลบราว 0.7% ส่วน ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็ย่อลง 0.9% แม้ว่า การปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงก็ตาม ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ดิ่งลงราว 2% ท่ามกลางความกังวลปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในยุโรป

 

ด้านตลาดบอนด์ การปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้ง  แม้ว่าผู้เล่นส่วนใหญ่จะยังมีความกังวลแนวโน้มการปรับตัวขึ้นเงินเฟ้อก็ตาม ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงราว 4bps สู่ระดับ 1.56%

ทั้งนี้ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลง แต่ก็ไม่ได้กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เพราะภาพความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะหลบความไม่แน่นอนในหลุมหลบภัย อย่าง เงินดอลลาร์ ทำให้ ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) กลับมาแข็งค่าขึ้นกว่า 0.2% สู่ระดับ 91.22 จุด ทำให้สกุลเงินหลักโดยรวมอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยเงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.394 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ส่วนเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าเล็กน้อยสู่ระดับ 1.203 ดอลลาร์ต่อยูโร

 

ศูนย์วิจัยวกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (21 เม.ย.) ขยับอ่อนค่าทดสอบแนว 31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทั่วโลกและในประเทศไทย ขณะที่แรงกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ (ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย) ให้ลดช่วงอ่อนค่าลงได้บางส่วน
  
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการดูแลโควิด 19 ในประเทศ และสัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ