“กองทุนฯ สายสีเขียว” ไม่ตอบโจทย์นักลงทุน

19 เม.ย. 2564 | 07:18 น.

‘เกียรตินาคินภัทร’ เผยแนวทางจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ตอบโจทย์นักลงทุน หลังธุรกิจขาดทุน ไม่มีรายได้ แนะกู้เงินจ่ายหนี้ได้ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำกว่า

จากกรณีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว มีหนังสือแจ้งให้บริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัดและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชำระหนี้การบริการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า, ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ที่ค้างชำระ 3 ปี 9 เดือน จำนวน 9,600 ล้านบาท และหนี้ค่าซ่อมระบบการเดินรถ จำนวน 20,000 ล้านบาท รวม 30,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดครบ 60 วันแล้ว และทาง กทม. ก็ยังไม่มีท่าทีดำเนินการแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้เสนอแนะให้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อพยุงอัตราค่าโดยสาร และนำรายได้ในอนาคตมาชำระคืนกองทุนภายหลัง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง ซึ่งมีทั้งการสนับสนุน และไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีผลกระทบหลายด้านทั้งต่อผู้ประกอบการ กทม. และผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า

นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายตลาดทุนกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในด้านของตลาดทุน การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถทำได้ตามขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่ไม่ตอบโจทย์นักลงทุน เพราะเป็นกองทุนรวมที่มีผลขาดทุนตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง ซึ่งนักลงทุนที่จะเข้าซื้อต้องการผลตอบแทนที่แน่นอน มีเงินปันผล และมีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้นจึงไม่มีความน่าสนใจ

นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข

อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดตั้งจริง และมีการันตีเงินปันผลขั้นต่ำ แต่ในระยะเวลา 9 ปี ก่อนถึงปี 2572 กทม.ต้องกู้เงินเพื่อนำมาจ่ายเงินปันผล ซึ่งรัฐบาลต้องรับภาระเป็นผู้ค้ำประกัน จึงมองว่าไม่ควรมีการจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าว ขณะเดียวกัน หากกทม.จะกู้เงินเพื่อนำมาชำระหนี้ คาดว่าเป็นแนวทางที่ดีกว่าการจัดตั้งกองทุนรวม เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำประมาณ 2-3% โดยต้นทุนจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการต้องหาเงินมาเพื่อจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุน

“นักลงทุนที่เข้าซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ย่อมต้องการผลตอบแทน และส่วนใหญ่ก็มีรายได้มากกว่าผลตอบแทนอยู่แล้ว ไม่มีรายไหนที่ขาดทุนก่อนจัดตั้ง เช่น กองทุนรวม BTSGIF ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 7.5% หรือ DIF ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 8.5% หากจะต้องจ่ายปันผลให้ได้เท่า 2 กองนี้ประมาณ 7-8% ต้องกู้เงินมาจ่ายอีก ดังนั้นในมุมตลาดทุน การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจึงไม่ตอบโจทย์ และไม่มีนักลงทุนที่ไหนอยากลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีรายได้ ถึงจัดตั้งได้ก็เสียเปล่าอยู่ดี”