โควิด-19 ระลอกสามเต็มตัว หมอธีระแนะปรับรูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรม-การดำเนินชีวิต

19 เม.ย. 2564 | 03:05 น.

โควิด-19 ระลอกสามเต็มตัว หมอธีระแนะปรับรูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรมและการดำเนินชีวิต ป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า  สถานการณ์ทั่วโลก 19 เมษายน 2564

วันนี้ตอนสายๆ จะทะลุ 142 ล้านคน อินเดียทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง วันเดียวเกินสองแสนเจ็ดหมื่นห้าพันคน ยอดรวมเกิน 15 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 703,298 คน รวมแล้วตอนนี้ 141,985,494 คน ตายเพิ่มอีก 9,466 คน ยอดตายรวม 3,032,185 คน

อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 42,384 คน รวม 32,403,664 คน ตายเพิ่ม 310 คน ยอดเสียชีวิตรวม 581,061 คน อัตราตาย 1.8%

อินเดีย ติดเพิ่มมากถึง 275,306 คน รวม 15,057,767 คน ตายเพิ่ม 1,625 คน ยอดเสียชีวิตรวม 178,793 คน อัตราตาย 1.2% ตอนนี้ยอดติดเชื้อต่อวันสูงกว่าระลอกแรกเกือบ 3 เท่า

บราซิล ติดเพิ่ม 42,937 คน รวม 13,943,071 คน ตายเพิ่มถึง 1,553 คน จำนวนเสียชีวิตต่อวันยังคงมากที่สุดในโลก ยอดเสียชีวิตรวม 373,442 คน อัตราตาย 2.7%

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 29,344 คน ยอดรวม 5,289,526 คน ตายเพิ่ม 140 คน ยอดเสียชีวิตรวม 100,733 คน อัตราตาย 1.9%

รัสเซีย ติดเพิ่ม 8,632 คน รวม 4,702,101 คน ตายเพิ่ม 389 คน ยอดเสียชีวิตรวม 105,582 คน อัตราตาย 2.2%

อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตุรกีติดเชื้อต่อวันสูงกว่าระลอกแรกราว 5 เท่า และสูงกว่าระลอกสองราว 2 เท่า อีกประมาณ 3 วันอาจแซงสหราชอาณาจักรขึ้นเป็นอันดับ 6

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า

แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง

เกาหลีใต้ และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

มองสถานการณ์การระบาดของไทยเรา เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนว่า กระจายไปทั่ว และมีคนที่ติดเชื้อใหม่มีประวัติเสี่ยงจากการใช้ชีวิตประจำวันในสัดส่วนที่มากขึ้น ทั้งจากการทำงาน การเดินทาง/ท่องเที่ยว การเรียน รวมถึงภายในครัวเรือน

หากลองวิเคราะห์จากประสบการณ์ของการระบาดระลอกที่ 2 ของทั่วโลก จะพบว่าประเทศไทยมีการปะทุของการระบาด เร็วกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น โดยมีระดับการติดเชื้อต่อวันในช่วงหลักสิบถึงหลักร้อยตั้งแต่ต้นมีนาคม 2564 และเข้าสู่การระบาดระลอกสามเต็มตัวตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2564 นับเป็นเวลา 5-6 สัปดาห์ (ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วมักใช้เวลาราว 7-10 สัปดาห์ตามที่เคยแลกเปลี่ยนให้ฟังมาก่อน)

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่เราสังเกตเห็นกันคือ การระบาดจากที่ต่างๆ เช่น ตลาด สถานบันเทิง ฯลฯ ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นว่ายังมีจุดอ่อนในเรื่องรูปแบบการประกอบการที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เช่น ความแออัด การระบายอากาศ การไม่ป้องกันตัวตามหลักการควบคุมป้องกันโรค ทั้งๆ ที่มีกฎระเบียบอยู่แล้วก็ตาม

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ดังนั้นการวางแผนจัดการการระบาดระลอกที่ 3 นี้ นอกจากที่ควรพิจารณามาตรการที่เคร่งครัด โดยมุ่งกดระดับการติดเชื้อให้น้อยลงกว่าเดิมแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือหาทางป้องกันการระบาดในอนาคตด้วยการหาแนวทางการปรับรูปแบบถาวรสำหรับการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม และการดำเนินชีวิตของประชาชน ทั้งเรื่องการค้าขาย การบริการ การท่องเที่ยว รวมถึง การท่องเที่ยวเดินทาง ให้เน้นเรื่องความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำในระยะยาว โดยเน้นการลดจำนวนคน ลดเวลาในการสัมผัส และลดจำนวนครั้งของการสัมผัสกัน ในแต่ละกิจกรรมของแต่ละกิจการ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาการระบาดซ้ำซาก และยากต่อการฟื้นฟู

ทั้งนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อ ทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมด้วยช่วยกันคิดและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

สำหรับประชาชนอย่างพวกเรา ขอให้ป้องกันตัวเองและสมาชิกในครอบครัวอย่างเคร่งครัด อยู่บ้าน ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ใส่หน้ากากเสมอ ถ้าไปในที่ที่เจอคนเยอะ ใส่สองชั้นจะดีกว่าชั้นเดียว โดยใส่หน้ากากอนามัยไว้ด้านใน และใส่หน้ากากผ้าไว้ด้านนอก จะช่วยให้ฟิตกับใบหน้าได้ดีขึ้น ล้างมือบ่อยๆ พกสเปรย์แอลกอฮอล์ไว้ติดตัว ใช้ทุกครั้งหลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ

ระวังการใช้สุขาสาธารณะ ทำความสะอาดทุกครั้ง ปิดฝาก่อนชักโครก และใส่หน้ากากขณะใช้สุขา เลี่ยงการกินการดื่มในร้านหรือโรงอาหาร ควรซื้อกลับมาแยกกินเองจะปลอดภัยกว่า เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์ และคอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ควรหยุดงาน และรีบไปตรวจรักษา

หากใครพอมีกำลัง ก็แบ่งปันช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่าเรา ให้สามารถประคับประคองกันไปได้ ทั้งเรื่องอาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ที่พักพิง หรืองานเล็กๆ น้อยๆ

ประเทศไทยต้องทำได้

ด้วยรักและห่วงใย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :