กนอ.แจงควันดำนิคมฯมาบตาพุดจากระบบไฟฟ้าดับ สั่งโรงงานหามาตรการสำรอง (มีคลิป)

16 เม.ย. 2564 | 06:45 น.

กนอ.แจงควันดำนิคมฯมาบตาพุดจากระบบไฟฟ้าดับ สั่งโรงงานหามาตรการสำรองป้องกันมิให้เกิดเหตุซ้ำ

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามที่เกิดเหตุหน่วยผลิตไฟฟ้าของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 2 หยุดกระบวนการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำฉุกเฉิน (Emergency Shutdown) ในเวลา 11.40 น.เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่และมีฟ้าผ่า ส่งผลให้โรงงานที่รับกระแสไฟฟ้าและไอน้ำจาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 2 ซึ่งประกอบด้วย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 2

,บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 3 ,บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ,บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 12 และบริษัท เอ็ช เอ็ม ซี โปลีเมอส์ จำกัด ต้องหยุดกระบวนการผลิตฉุกเฉิน และจำเป็นต้องระบายก๊าซออกไปเผาไหม้ที่ปล่องหอเผา ทำให้เกิดเปลวไฟและควันดำที่ปล่องหอเผา (flare) มากกว่าปกตินั้น ล่าสุดบริษัทฯ ได้แจ้งมายังศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) ของ กนอ.ว่าบริษัทฯ สามารถแก้ไขและเริ่มกระบวนการในหน่วยผลิตไฟฟ้า และไอน้ำแล้ว

โดยได้จ่ายกระแสไฟฟ้าและไอน้ำให้กับโรงงานที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยเมื่อวานนี้ ( 15 เม.ย.64) กนอ.ได้ร่วมกับศูนย์ควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง เทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้ออกตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ บริเวณพื้นที่ชุมชนทั้งหมด 5 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 บริเวณเมืองใหม่มาบตาพุด จุดที่ 2 บริเวณชุมชนมาบยา จุดที่ 3 บริเวณวัดห้วยโป่ง จุดที่ 4 บริเวณชุมชนมาบชลูด และ จุดที่ 5 บริเวณบริษัท อิวอนิก ยูไนเต็ด ซิลิกา (สยาม) จำกัด โดยพบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปกติไม่เกินค่ามาตรฐานแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันมีรายงานเพิ่มเติมผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าหลังเกิดกระแสไฟฟ้าดับ บริษัทฯ ได้รับกระแสไฟฟ้าจากภายนอกเข้ามาเสริมในระบบเพื่อให้สามารถรองรับกับความต้องการของหน่วยผลิตอื่นๆ ได้ แต่ภายหลังทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ตรวจสอบพบว่ามีความผิดปกติของระบบสายส่งไฟฟ้าที่โดนฟ้าผ่า ระบบป้องกันไฟฟ้าของ กฟภ.จึงทำงานอัตโนมัติตัดวงจรการส่งจ่ายไฟฟ้าที่โรงงานรับเข้าเสริมในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าขาดหายไปจากระบบประมาณ 40 เมกะวัตต์

สมจิณณ์ พิลึก

ทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เหลืออยู่ต้องทำงานหนัก เพื่อชดเชยกระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปจากระบบประมาณ 40 เมกะวัตต์ เป็นผลให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหยุดทำงานลงอีก 4 ยูนิต ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าและไอน้ำได้เพียงพอต่อความต้องการของบริษัทฯ และลูกค้า จึงทำให้เกิดกรณีดังกล่าว

“กนอ.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังโรงงานดังกล่าวแล้ว เพื่อให้ปรับปรุงและเพิ่มมาตรการป้องกันอุปกรณ์ในหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ โดยให้พิจารณาเพิ่มระบบป้องกันไฟฟ้า หรือระบบตรวจจับความผิดปกติจากเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทางโรงงานฯต้องหารือร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยหากได้ข้อสรุปประการใดให้แจ้ง กนอ.ทราบแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นซ้ำอีก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :