บอร์ดแข่งขันชุดใหม่กางแผนลุย คุมเข้มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซบูมยุคโควิด 

16 เม.ย. 2564 | 05:07 น.

 

คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(บอร์ดแข่งขัน/บอร์ด กขค.) ซึ่งถือเป็นองค์กรอิสระได้เข้ามาทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและจัดระเบียบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรมภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)หรือกฎหมายการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560

ในระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมาได้เร่งทำงานเพื่อลบภาพเสือกระดาษ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ที่ประกาศใช้มานานกว่า 18 ปีไม่มีผลการบังคับคดีให้เห็นเป็นรูปธรรมแม้แต่คดีเดียวจึงได้มีการตราพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ขึ้นมาทดแทน

 

โชว์ผลงานสางข้อร้องเรียน

สรุปผลงานของบอร์ด กขค.ชุดปัจจุบันได้รับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 68 เรื่อง หรือเฉลี่ยปีละ 22 เรื่อง แบ่งออกเป็นการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า (การดำเนินคดี) และข้อมูลการดำเนินคดีแยกตามมาตรา 50 (เกี่ยวกับการใช้อำนาจเหนือตลาด) จำนวน 10 เรื่อง มาตรา 54 (เกี่ยวกับการฮั้ว การตกลงรวมกันเพื่อลดและจำกัดการแข่งขัน) จำนวน 4 เรื่อง มาตรา 57 (การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม) จำนวน 54 เรื่อง เป็นต้น ซึ่งมี 20 เรื่องที่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ

  นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานบอร์ดการแข่งขันทางการค้า เผยว่า แผนงานของ กขค.ในปีนี้ที่จะมีคณะกรรมการ(บอร์ด)ใหม่บางท่านได้เข้ามาทำหน้าที่แทนบอร์ดเก่า(3 คน)ที่หมดวาระไปนั้น มีงานหนักรออยู่ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลต่อเศรษฐกิจของไทยและทั่วโลก ส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี)ต้องเลิกกิจการไป ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาวยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง

โดยกระแสของการรวมธุรกิจเริ่มมีมากขึ้นทั้งการรวมในประเทศและข้ามชาติ ส่งผลต่อการแข่งขันทางการค้า และผู้ประกอบธุรกิจ ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน มีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อซื้อสินค้ามากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง         


บอร์ดแข่งขันชุดใหม่กางแผนลุย คุมเข้มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซบูมยุคโควิด 

คุมเข้มอี-คอมเมิร์ซ  

ดังนั้นในปีนี้ กขค. จึงจะเข้มงวดกับการดำเนินธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น เพื่อป้องกันการมีอำนาจเหนือตลาดหรือการเอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งจัดทำทำแนวทางปฏิบัติ หรือไกด์ไลน์ (Guidelines) หรือข้อแนะนำ เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งขันหรือคู่ค้า และรักษาประโยชน์ของผู้บริโภค  

  ขณะเดียวกันในส่วนของธุรกิจอื่นๆ ก็จะเข้มงวดเพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ.2560 อย่างเข้มข้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบรวมธุรกิจทำให้มีอำนาจเหนือตลาด การผูกขาดทางธุรกิจหรือฮั้ว การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม การกระจุกตัว ซึ่งจะมีการจัดตั้งหน่วยวิเคราะห์ธุรกิจ Business Intelligence Unit (BIU) เพื่อวางระบบการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าและการดำเนินคดีตามกฎหมาย 

นอกจากนี้จะมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการดำเนินการในโครงการต่างๆของรัฐเป็นอย่างถูกต้องแข่งขันอย่างเสรีทั้งในเรื่องของการให้สัมปทานโครงสร้างพื้นฐาน การประมูลโครงการต่างๆ ของรัฐ  การให้สิทธิพิเศษในโครงการของรัฐที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายการแข่งขัน  ซึ่งที่ผ่านมาทาง กขค.ได้มีการแจ้งเตือนในโครงการจัดประมูลสร้างท่อร้อยสายของกทม.ที่อาจเข้าข่ายการผูกขาด

ส่วนกรณีเป็นที่จับตาของสังคม ที่บอร์ด กขค.มีมติ 4 : 3 เสียงให้ทางเครือซีพีควบรวมธุรกิจกับเทสโก้โลตัสไปก่อนหน้านี้ และองค์กรผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้การคุ้มครอง หรือระงับชั่วคราว โดยเห็นว่าจะทำให้ทางเครือซีพีมีอำนาจเหนือตลาดนั้น ในส่วนของ กขค.ถือว่าได้ทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้วตามขั้นตอนของกฎหมายที่ให้อำนาจ ที่สุดแล้วศาลจะพิจารณาและมีคำสั่งอย่างไรก็คงต้องติดตาม 

ล่าสุดบอร์ด กขค. ได้เปิดตัวกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่ที่เข้ามาเพิ่ม 3 คนเพื่อทดแทนกรรมการชุดเดิมที่หมดวาระไป 3 คน ได้แก่ 1.นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกรรมการชุดเดิมที่จับสลากออกตามมาตรา 13 และกลับมาลงสมัครอีกครั้งได้รับการคัดสรรอีกครั้ง 2.นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ 3.นายรักษเกชา แฉ่ฉ่าย อดีตเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งต้องจับตาว่าบอร์ดแข่งขันชุดใหม่จะทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็งและโชว์ผลงานได้เข้าตาประชาชนหรือไม่

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 8 ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564