โควิดดันไทยเข้าสู่ ‘ชีวิตดิจิทัล’ เต็มรูปแบบ

17 เม.ย. 2564 | 11:10 น.

 

สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา  ทำให้คนไทยเข้าสู่ชีวิตดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมีการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ และการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทั้งการทำงานที่บ้าน ประชุมทางไกล การเรียนผ่านออนไลน์ ช้อปปิ้งออนไลน์ เสพความบันเทิงผ่านวิดีโอสตรีมมิ่ง รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือผลกระทบโควิดของภาครัฐ ผ่านแอพกระเป๋าตัง ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 ล่าสุดของสำนักงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA พบว่า คนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1 ชั่วโมง 3 นาที สอดคล้องกับการผลสำรวจฯ ที่ถามถึงการเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตจากปีที่ผ่าน โดย 78.3% ของผู้ตอบแบบสำรวจฯ ตอบว่า มีการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้น

โดยเหตุผลหลักที่ทำให้มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น คือ การที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย มีเครือข่ายที่ครอบคลุม รองลงมาคือ มีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันสามารถทำผ่านออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ผลกระทบจาก COVID-19 ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาเลือกทำกิจกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แทนการเดินทางจากบ้านเรือน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการต้องพบปะผู้คนโดยเฉพาะในที่สาธารณะอีกด้วย โดยหากพิจารณารายละเอียดแล้วพบว่า ในวันเรียน/ทำงาน มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ชั่วโมง 23 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 ชั่วโมง 31 นาที และช่วงวันหยุด มีการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 11 ชั่วโมง 29 นาทีต่อวัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 6 นาที

เมื่อจำแนกตามเจเนอเรชัน พบว่า กลุ่ม Gen Y (อายุ 20-39 ปี) มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดอยู่ที่ 12 ชั่วโมง 26 นาที รองลงมาคือ Gen Z (อายุน้อยกว่า 20 ปี) จำนวน 12 ชั่วโมง 8 นาที , Gen X (อายุ 40-55 ปี) จำนวน 10 ชั่วโมง 20 นาที และ Baby Boomer (อายุ 56-74 ปี) จำนวน 8 ชั่วโมง 41 นาที

สาเหตุที่ภาพรวมจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตในวันเรียน/ทำงาน เพิ่มมากขึ้น และกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่อยู่ในวัยเรียน/วัยทำงานเป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันมากที่สุดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีมาตรการปิดสถานศึกษาให้ทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และที่ทำงานส่วนใหญ่มีนโยบายการทำงานแบบ Work from Home ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการทำงานมาเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น

โควิดดันไทยเข้าสู่ ‘ชีวิตดิจิทัล’ เต็มรูปแบบ

 

สำหรับกิจกรรมออนไลน์ยอดนิยม 10 อันดับแรก ได้แก่ ใช้ Social Media เช่น Facebook, LINE, Instagram คิดเป็น 95.3% รองลงมาคือ ดูโทรทัศน์/ดูคลิป/ดูหนัง/ฟังเพลงออนไลน์ คิดเป็น 85.0%, ค้นหาข้อมูล คิดเป็น 82.2%, ติดต่อสื่อสารออนไลน์ทั้งการโทรศัพท์ และพูดคุย (Chat) คิดเป็น 77.8%, รับ-ส่งอีเมล คิดเป็น 69.0%, ซื้อสินค้าออนไลน์ คิดเป็น 67.3%, อ่านข่าว/บทความ/หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) คิดเป็น 64.2%, เรียนออนไลน์ (e-Learning) คิดเป็น 57.5%, เล่นเกมออนไลน์ คิดเป็น 56.8% และทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ คิดเป็น 56.5%

Facebook, YouTube และ LINE ยังคงเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ครองใจคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ตอบแบบสำรวจฯ ยกให้ Facebook เป็นอันดับที่หนึ่ง คิดเป็น 98.29 รองลงมาคือ YouTube คิดเป็น 97.5% และ LINE คิดเป็น 96.0%สำหรับสื่อสังคมออนไลน์ที่มาแรงในปีนี้อย่าง TikTok ก็ยังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วโดยมีผู้ใช้บริการ คิดเป็น 35.8%

สำหรับประเด็น Hot Issue ในเรื่องข่าวปลอม จากผลการสำรวจฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจฯ เชื่อว่า มีเพียง 50.2% ของข้อมูลข่าวสาร ที่พบเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ต เป็นข้อมูลจริง สามารถเชื่อถือได้ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังมีความเคลือบแคลง ลังเล และสงสัยถึงความน่าเชื่อของข้อมูลข่าวสารที่พบ และยังไม่ได้เชื่อข่าวที่พบเห็นบนโลกออนไลน์ทุกข่าวในทันที

หากสอบถามถึงการเคยพบเห็นข่าวปลอม (Fake News) บนอินเทอร์เน็ต พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจฯ ส่วนใหญ่ถึง 94.7% ตอบว่า เคยพบเห็นข่าวปลอมบนอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ได้หมายถึงจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจฯ ที่พบเห็นข่าวปลอมเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการพบเจอข่าวที่มีการแชร์กันว่าเป็นข่าวปลอมทั้งที่ผ่านการตรวจสอบและยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบอีกด้วย