198 องค์กรผู้บริโภคค้าน อย่าฉวยโอกาสต่อสัญญาบีทีเอส

13 เม.ย. 2564 | 08:13 น.

198 องค์กรผู้บริโภคคัดค้าน อย่าฉวยโอกาสต่อสัญญาบีทีเอส หยุดราคา 65 บาท ยืนยัน 25 บาททำได้จริง

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค โพสต์เฟสบุ๊กhttps://www.consumerthai.org/consumers-news/public-society/4568-640409_bts.html ระบุว่า ข้อเท็จจริงที่นายกฯไม่ได้พูดถึงก็คือ ทำไมต้อง 65 บาท ที่สำคัญสายสีเขียวจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 แต่จะมีการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า 38 ปี ไปจนถึงปี 2602

 

ขณะที่ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กทม.กำหนดไว้ 65 บาท เป็นการสร้างภาระให้ผู้บริโภค เพราะหากคำนวณ 22 วันต่อเดือน เป็นเวลา 38 ปี แต่ละคนที่ใช้ต้องจ่ายเงินมากกว่า 1 ล้าน 3 แสนบาท

 

จากกรณีเมื่อวันที่ 7 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับความคืบหน้าการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า จะมีการนำเรื่องเสนอให้ ครม. พิจารณาก่อนจะนำไปสู่ขั้นตอนการเจรจาต่อไปนั้น

 

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ขอให้นายกหยุดตัดตอนปัญหา และปิดปากประชาชนด้วยการโยนลูกเข้า ครม. ซึ่งการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นต้องอยู่บนหลักการ “ขนส่งมวลชนเพื่อมวลชนทุกคน” โดยควรกำหนดบนพื้นฐานประมาณ 10% ของค่าแรงขั้นต่ำของคนในประเทศ และมีมาตรฐานเดียวกันกับราคารถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม ราคาค่ารถไฟฟ้า 65 บาทที่ กทม. เสนอมา นอกจากเป็นราคาที่สูงเกินกว่า ‘มวลชน’ จะจ่ายได้ อีกทั้งก็ยังไม่สามารถชี้แจงฐานการคิดคำนวณของราคาดังกล่าวที่ชัดเจนว่ามาจากหลักการใด ซึ่งหากราคานี้ถูกพิจารณาผ่านและถูกนำมาใช้ จะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

 

เนื่องจากผู้บริโภคจะต้องผูกมัดจ่ายค่าโดยสารในราคานี้ไปอีก 38 ปี จนกว่าจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2602 ในขณะที่ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมให้ใช้ราคาค่ารถไฟฟ้า 49.83 บาทเท่านั้น ซึ่งจะทำให้มีกำไรส่งรัฐในปี 2602 ถึง 380,200 ล้านบาท แต่กทม.ไม่เคยมีโมเดลการคิดค่าโดยสารมานำเสนอเลย เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม

เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เรียกร้องให้รัฐบาลส่งปัญหานี้กลับมายัง กทม.เพื่อให้ กทม.ทำกระบวนการการกำหนดราคาที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ประชาชนที่เป็นผู้รับภาระการจ่ายค่าโดยสารมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

 

 

 

สภาฯ ผู้บริโภค เสนอทางเลือกว่าจากการคำนวณของสภาฯ พบว่า ค่ารถไฟฟ้าในราคา 25 บาท สามารถทำได้จริงแน่นอน ซึ่งในการคำนวณดังกล่าวได้อ้างอิงจากตัวเลขของกระทรวงคมนาคม โดยลดรายได้รวมลงครึ่งหนึ่งและคิดราคาค่าโดยสารเพียง 25 บาท สุดท้ายแล้ว กทม. ยังมีกำไรหรือมีเงินเหลือนำส่งรัฐได้ถึง 23,000.00 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ สภาฯ เรียกร้องให้รัฐบาล และ กทม. เห็นความสำคัญของปัจจัยทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่อาศัยตามชานเมืองที่ต้องพึ่งบริการรถไฟฟ้าเข้ามาทำงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ควรเป็นเงินออมในอนาคตที่ต้องนำมาจ่ายเป็นค่าเดินทางเพียงอย่างเดียว

 

ดังนั้น องค์กรผู้บริโภคทั้ง 198 องค์กร ขอคัดค้านนายกรัฐมนตรีที่มีความพยายามจะนำประเด็น ‘การต่อสัญญาสัมปทานและการขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว (รถไฟฟ้าบีทีเอส)’ เข้า ครม. เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องนำเข้าพิจารณาในขณะนี้

 

แต่ควรจะพิจารณาเรื่องที่เร่งด่วนกว่าในสถานการณ์การระบาดของโควิด - 19 เช่น อีกประการหนึ่งการพยายามนำประเด็นนี้เข้า ครม. ในช่วงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 จะถือว่าเป็นการตัดสิทธิ์ผู้ที่คัดค้านหรือไม่ เนื่องจากรัฐมนตรีท่านนี้เป็นฝ่ายคัดค้านการปรับขึ้นราคาดังกล่าวมาโดยตลอด

 

ด้าน ดร. สุเมธ องกิตติกุล กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ทั้งเงื่อนไขในการต่อสัญญาสัมปทาน รูปแบบการกำหนดค่าโดยสาร และแนวทางการดำเนินงานของระบบรถไฟฟ้าในอนาคต ไม่ได้ถูกพิจารณาโดย กทม. ซึ่งการต้องการต่อสัญญาสัมปทานเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาด้านการเงินของ กทม. เท่านั้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ

 

ทั้งนี้ในความเป็นจริง กทม. ควรมีทางเลือกอื่นในการพิจารณาร่วมด้วย เช่น เงื่อนไขในการต่อสัญญาสัมปทานที่ให้มีการคิดค่าโดยสารแบบตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าทั้งระบบมากกว่าจะพิจารณาเพียงแค่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว นอกจากนี้ยังมองว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าควรจะถูกกว่า 65 บาทได้ ซึ่งผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น

 

ขณะที่ คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวย้ำว่า ประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องขัดแย้งกัน แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับเป็นเรื่องความไม่โปร่งใสของ กทม. ที่ยืนยันฝ่ายเดียวที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลการเจรจาที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐกับประชาชนมากกว่า

 

โดยเฉพาะตัวเลขค่าโดยสาร 65 บาท ที่ กทม. ยังอธิบายต่อสังคมไม่ได้ว่าคำนวณมาจากอะไร และทำไมต้องมีราคา 65 บาท ทั้งที่ กทม. ควรต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดสัญญาและที่มาของการคำนวณราคาค่าโดยสารต่อสาธารณะ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตการใช้รถไฟฟ้าสายนี้ก่อนจะต่อหรือไม่ต่อสัญญา

 

เพราะหาก ครม. อุ้ม กทม. ยอมต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้ ผู้ที่ต้องแบกรับภาระต่อจากนี้ คือ ประชาชนและอนาคตของลูกหลานที่จะต้องกลายมาเป็นผู้จ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 65 บาท ไปอีก 38 ปี

 

ขอย้ำว่า กทม. ต้องหยุดจับผู้บริโภคเป็นตัวประกันต่อรองรัฐบาล อย่าห่วงแต่เรื่องหนี้สินและส่วนแบ่งรายได้ 2.4 แสนล้านบาทที่จะได้หลังต่อสัญญาฯ อีกทั้งถ้าหลักคิดรถไฟฟ้า คือ ขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กทม. ต้องทำให้ค่าโดยสารไม่เป็นภาระกับผู้บริโภค หรือไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงจะต้องทำให้รถไฟฟ้าเป็นขนส่งมวลชนที่ประชาชนเข้าถึงได้ ไม่ใช่เป็นเพียงขนส่งทางเลือกแบบทุกวันนี้

 

ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงอยากเชิญชวนผู้บริโภคทุกคนร่วมแสดงตัวตน เพื่อคัดค้านการที่มีความพยายามจะนำประเด็น ‘การต่อสัญญาสัมปทานและการขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียว (รถไฟฟ้าบีทีเอส)’ และนำไปยื่นให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงออกผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานและการปรับขึ้นราคาเป็น 65 บาท โดยผู้บริโภคสามารถร่วมลงชื่อได้ที่ ร่วมลงชื่อ คัดค้านการนำประเด็น 'ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว' เข้า ครม.