10ล้านโดส ‘วัคซีนทางเลือก’ จัดสรร รพ.เอกชนฉีด 5 ล้านคนเริ่มมิ.ย.64

14 เม.ย. 2564 | 19:00 น.

โรงพยาบาลเอกชนตั้งโต๊ะจัดสรร 10 ล้านโดส กระจายฉีด 5 ล้านคน ไล่บี้อย.ปลดล็อกนำเข้าวัคซีนอย่างเป็นทางการหลังยื้อมานาน แม้นายกฯไฟเขียวหลายรอบ หวั่นดีมานด์ทั่วโลกทะลักจากระบาดระลอก 3 และ 4 ทำวัคซีนขาดแคลน ราคาพุ่ง “หมอบุญ” เล็งนำเข้าปลายเดือนมิ.ย. หลังมีผู้แสดงความจำนงรอฉีดเพียบ

 

การระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงของโควิด-19 ระลอก 3 จากหลายคลัสเตอร์ใหญ่ จนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งขึ้นมากถึง 33,610 ราย มีผู้ติดเชื้อใหม่สูงเกือบ 1,000 รายต่อวันในช่วง 2 วันที่ผ่านมา (11-12 เม.ย.) กระจายอยู่ทั่วประเทศ ยังไม่นับรวมผู้ที่รอการตรวจเชื้ออีกหลายหมื่นราย ที่ทะลักเข้าไปตรวจตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องปิดให้บริการชั่วคราว ทั้งเหตุเรื่องของน้ำยาตรวจที่ไม่เพียงพอและการหาโรงพยาบาลที่รับช่วงต่อในการรักษาไม่ได้

วิกฤตครั้งนี้บ่งชี้ว่า รัฐบาลประเมินสถานการณ์ผิดพลาดหลายด้าน จนเป็นเหตุให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อหารือมาตรการรับมือการระบาดของโควิดระลอก 3 โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมด้วย จนที่สุดตกผลึกไฟเขียวให้มีการจัดหาวัคซีนทางเลือกเกิดขึ้น พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการในการดำเนินงานโดยมีนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นหัวหน้าทีม ทำให้คนไทยเริ่มมีความหวังที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น

10ล้านโดส ‘วัคซีนทางเลือก’ จัดสรร รพ.เอกชนฉีด 5 ล้านคนเริ่มมิ.ย.64

ไฟเขียว 10 ล้านโดส

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอาเซียน และหนึ่งในกรรมการพิจารณาจัดหาวัคซีนทางเลือกชุดหมอปิยะสกล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนให้บริการฉีดวัคซีนได้นั้น ยังต้องรอความชัดเจนและการปลดล็อกอย่างเป็นทางการ ซึ่งข้อสรุปในการประชุมร่วมกับรัฐบาลคือ เอกชนต้องการนำเข้าวัคซีนทางเลือกมากกว่า 2 ชนิด ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า โดยนำเสนอวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดิร์นนา (Moderna) Sputnik V Sinopharm และโนวาแว็กซ์ (Novavax)

โดยเบื้องต้นจะอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนกระจายวัคซีน 10 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชน 5 ล้านคน ซึ่งสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะประชุมจัดสรรกันอีกครั้ง ส่วนขั้นตอนพิจารณาการนำเข้าจะมี 2 รูปแบบ คือ ให้องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อเข้ามาแล้วให้โรงพยาบาลเอกชนแบ่งซื้อไปฉีดให้กับประชาชน ซึ่งอาจเกิดความล่าช้าในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง หรือให้เอกชนสามารถนำเข้าเอง ซึ่งง่ายและรวดเร็วกว่า เพราะไม่มีเงื่อนไขทางด้านราคาซื้อ

ด้านการให้บริการผู้รับการฉีดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งสูงกว่าที่รัฐนำเข้า และภาครัฐจะต้องให้การรับรอง โดยไม่เอาผิดกับโรงพยาบาลเอกชน ในกรณีที่เกิดผลข้างเคียง เพราะวัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและไม่มีการรับรองผล100%

อย่างไรก็ดีหากมีความชัดเจนโรงพยาบาลเมดพาร์คพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนได้ทันที ส่วนจำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับการจัดสรร หากรัฐปลดล็อกได้จะเริ่มสั่งซื้ออย่างเร็วภายในระยะเวลา 1-2 เดือน และเชื่อว่าจะสามารถฉีดได้ครบ 5 ล้านคนภายใน 1 ปีนี้

“คาดว่าอีกไม่นานจะมีการปลดล็อกทั้งหมด และเริ่มสั่งซื้อนำเข้าได้อย่างเร็ว 1-2 เดือน และจะกระจายให้ผู้รับวัคซีน 5 ล้านคนครบภายใน 1 ปี เพราะเราช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ทำให้การสั่งซื้อตอนนี้อาจไม่ได้รับวัคซีนในครั้งเดียว แต่จะได้เป็นล็อต ซึ่งคาดเดาไม่ได้ว่าแต่ละล็อตจะใช้เวลาห่างกันเท่าไร”

 

วัคซีนขาดแคลน

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ THG และหนึ่งในกรรมการพิจารณาจัดหาวัคซีนฯเช่นกัน กล่าวว่า โรงพยาบาลยื่นขออนุญาตนำเข้าวัคซีนตั้งแต่ 6 เดือนก่อนแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.จนถึงปัจจุบัน หากรัฐบาลจะไฟเขียวให้เอกชนนำเข้าและฉีดวัคซีนได้ ต้องไปแก้กฎหมายที่อย.ก่อน อย่างไรก็ดีแม้ภาครัฐจะอนุญาตให้เอกชนนำเข้าได้ แต่ปัจจุบันการระบาดในระลอก 3 เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หลายประเทศสั่งซื้อในปริมาณที่สูง ทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ดังนั้นแม้ภาครัฐจะอนุญาตให้นำเข้าอาจจะหาซื้อวัคซีนไม่ได้

“สำหรับ THG มีความพร้อมในการสั่งซื้อวัคซีนนานแล้ว โดยมุ่งเน้นเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถฉีดเชื้อโควิดที่กลายพันธุ์ได้ผล วัคซีนที่สนใจและจะสั่งนำเข้าคือ โมเดิร์นนา, Sputnik V และโนวาแว็กซ์ ซึ่งตัวหลังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยคาดว่าจะนำเข้าได้ในปลายเดือนมิถุนายน และขณะนี้มีองค์กรขนาดใหญ่แจ้งความจำนงที่จะฉีดวัคซีนแล้วกว่า 5 ล้านโดส”

อย่างไรก็ดีการที่ประเทศไทยฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุม 50 ล้านคนภายในเดือนกันยายนนี้ จะทำให้ไทยพลาดโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไฮซีซั่น ซึ่งในความเป็นจริงรัฐบาลต้องฉีดวัคซีนให้กับพัทยา ภูเก็ต กระบี่ สมุย และกรุงเทพฯก่อน เพราะถือเป็นจุดสำคัญของประเทศ ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70% รวมถึงการวางแผนการฉีดวัคซีนก็ต้องฉีดให้กลุ่มคนทำงานในวัย 30-50 ปีก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่มีเคลื่อนที่มาก ต้องออกไปทำงาน กินเลี้ยง สังสรรค์

“รัฐบาลทำผิดพลาดหลายอย่าง ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนในวัย 30-50 ปี เป็นอันดับแรก ๆ แต่ประเทศไทยกลับจัดอันดับในกลุ่มท้าย ๆที่ได้รับการฉีด การกระจายก็ผิด นโยบายก็ผิดพลาดมาก”


วัคซีนความหวังสยบโควิด

การใช้วัคซีนทั่วโลกพุ่ง

ด้านนายธานี มณีนุตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจเพื่อสุขภาพ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวว่า การเปิดให้เอกชนฉีดวัคซีนได้ภาครัฐต้องคลายล็อกในส่วนของอย. เพราะมีกม. เรื่องของ product liability ( ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์) เพราะการฉีดวัคซีนครั้งนี้ถือว่าอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ส่วนวัคซีนที่จะนำมาฉีดไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ของเอกชนจัดหามาเอง ก็สามารถกระทำได้แต่อาจได้ปริมาณไม่มาก แต่ถ้าภาครัฐดำเนินการจัดหา เช่น องค์การเภสัชกรรม อาจจะได้ล็อตใหญ่กว่า และให้เอกชนเป็นผู้กระจายและฉีดน่าจะเป็นวิธีการที่ win-win กว่า

ขณะที่ราคาการให้บริการจะมีการประชุมพูดคุยกันอีกครั้ง เพราะราคาวัคซีนที่สั่งนำเข้ามาจะขึ้นอยู่กับดีมานต์และซัพพลายในตลาดโลกว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังระบาดระลอก 3 และบางประเทศระบาดระลอก 4 ทำให้วัคซีนเป็นที่ต้องการในทุกประเทศ

สำหรับไทม์ไลน์การนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 นำเข้าวัคซีนซิโนแวค ล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดส ล็อต 2 ในวันที่ 22 มีนาคม 8 แสนโดส และล็อต 3 ในวันที่ 10 เมษายน 1 ล้านโดส และล็อตสี่จะนำเข้ามาอีกในช่วงปลายเดือนเมษายน ขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเบื้องต้นมีการนำเข้ากว่า 1.17 แสนโดสในวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา และมีกำหนดส่งมอบล็อตใหญ่ตั้งแต่มิ.ย.นี้่ หลังจากโรงงานของบ.สยามไบโอไซน์ เดินสายพานการผลิตได้ โดยมีเป้าหมายปีนี้ 61 ล้านโดส

 

ตั้งทีมจัดหาวัคซีน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งนายกฯที่ 5/2564 ตั้งคณะทำงาน 18 คน เพื่อพิจารณาการจัดหาวัคซีน มีนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาศบค. เป็นประธานคณะทำงาน  โดยใช้อำนาจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง การตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฎิบัติหน้าที่ตามพ.ร.ก.การปฎิบัติราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 ข้อ 2 คณะทำงานชุดนี้จึงเป็นหน่วยงานพิเศษภายใต้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอำนาจหน้าที่ 3 ข้อ คือ

1.เสนแนวทาง และมาตรการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน

2.ติดตามสถานการณ์ของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการจัดหาวัคซีน และ3.ดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

องค์ประกอบคณะทำงานมีนายแพทย์ปิยะสกล เป็นประธานคณะทำงาน ส่วนคณะทำงานคนอื่นเป็นข้าราชการประจำในกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัช (อภ.) ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน โดยไม่มีฝายการเมืองที่กำกับดูแลสาธารณสุขร่วมด้วยเลย และคณะทำงานรายงานตรงนายกฯ จึงเท่ากับเป็นหน่วยงานพิเศษของนายกฯ ที่เข้ามา “เทคโอเวอร์” อำนาจกำหนดนโยบายวัคซีนทั้งที่รัฐจัดหาและวัคซีนทางเลือก ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรียบร้อย 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564