สัญญาณบวกแรงงาน 5 กลุ่ม ความต้องการพุ่ง หลังฉีดวัคซีน

14 เม.ย. 2564 | 03:50 น.

สัญญาณบวกแรงงาน 5 กลุ่มความต้องการพุ่ง หลังฉีดวัคซีน คอลัมน์ : พื้นที่นี้ Exclusive โดย งามตา สืบเชื้อวงค์

หากประมวลภาพรวมการใช้แรงงานในประเทศไทยในขณะนี้ยังยืนอยู่ในสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ แต่เริ่มมีสัญญาณบวก  เมื่อทิศทางความต้องการตลาดแรงงาน มีการขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จำเป็นต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้  นับจากนี้ไปจะมีแรงงานกลุ่มไหนที่น่าจับตาหลังมีแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ไปถึงครึ่งหลังปี 2564 รวมถึงแนวโน้มการใช้แรงงานแบบไหนที่นายจ้างจะให้ความสำคัญมากขึ้น

นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัด

วัคซีนฟื้นตลาดแรงงาน

ในมุมมองของนางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัด  ที่ให้สัมภาษณ์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ระบุว่า สัญญาณการขยายตัวของตลาดแรงงานน่าจะเห็นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564  จากการกระจายการฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจและท่องเที่ยวในประเทศขับเคลื่อนได้ดีขึ้น ซึ่งไทยเริ่มฉีดวัคซีนป้องโควิด-19 ระยะที่ 1 (มี.ค.- พ.ค. 64) ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยฉีดในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงก่อน และจะสามารถกระจายการฉีดมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นไป  และระยะที่ 2 (มิ.ย.-ธ.ค. 64) จากแผนการฉีดโดยเฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน ครอบคลุมโรงพยาบาล 1,000 แห่ง โดยภายในปี 2564 จะสามารถครอบคลุมประชากรครึ่งประเทศประมาณ 31.5 ล้านคน

ทั้งนี้อัตราการขยายตัวของตลาดแรงงานจะแปรผันตามตามทิศทางธุรกิจส่งออก, ท่องเที่ยว, เศรษฐกิจในประเทศ และการลงทุนและใช้จ่ายภาคภาครัฐ ทั้งด้านการก่อสร้าง, โครงการเมกะโปรเจ็กต์, และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ดังนั้นความต้อง การแรงงานคาดจะเห็นชัดเจนประมาณไตรมาสที่ 4 ปีนี้ จากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลาย และครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจะสามารถสร้างภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในไตรมาส 1 ปี 2565

“การฉีดวัคซีนถือเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป  เพราะหลังจากได้รับวัคซีนโควิดจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมาก ก่อให้เกิดความปลอดภัย และมีอิสระในการใช้ชีวิต ก่อให้เกิดอุปสงค์และอุปทานทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้การฉีดวัคซีนนับเป็นก้าวสำคัญสู่การเดินหน้าทางธุรกิจ รวมถึงกระตุ้นอัตราการจับจ่ายใช้ สอยและอุป โภคบริโภคของประชากรในประ เทศ ซึ่งแปรผันตามทิศทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีโอกาสขยายตัว ซึ่งหากการฉีดวัคซีนสามารถกระจายได้เร็วและครอบคลุมมากขึ้นเท่าไร  โอกาสทางเศรษฐกิจก็มีการฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเท่านั้น ทำให้ตลาดแรงงานสามารถมีอัตราการขยายตัวแปรผันตามทิศทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

 

Q2 แรงงานกลุ่มไหนโต

นางสาวสุธิดา ยังมองว่าจะมีแรงงาน 5 กลุ่มแรกที่ต้องจับตาในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้หลังมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไล่ตั้งแต่ งานด้านไอที ถือว่าเป็นสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์บทบาทด้านเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตท่ามกลางสถานการณ์โควิด ทำให้มีการเร่งเครื่องพัฒนาและเชื่อมโยงกระบวนการและการทำงานของภาคธุรกิจสู่การใช้ระบบและเทคโนโลยีอัตโนมัติต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว อีกทั้งโลกการทำงานทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้แนวโน้มในอนาคตยิ่งมีการเติบโตสูง แรงงานในด้านดังกล่าวจึงเป็นที่ต้องการเป็นเงาตามตัว แนวโน้มอาชีพไอทีที่มีความต้องการสูง(กราฟิกประกอบ)

งานด้านบัญชีและการเงิน มีอัตราความต้องการสูงในทุกระดับและในทุกกลุ่มธุรกิจอย่างตลอดเวลา หากมีความสามารถทางภาษาอังกฤษ ฐานเงินเดือนจะสูงขึ้นเป็นลำดับ แนวโน้มอาชีพด้านบัญชีและการเงินที่มีความต้องการสูงทั้งในส่วนของการวางแผนทางการเงินและการบริหารเงินลงทุน ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายบัญชี, นักวิเคราะห์ทางการเงิน ต้นทุน ภาษี และควบคุมวางแผนทางการเงิน

งานขายโดยพนักงานขาย ถือเป็นส่วนสำคัญในการนำมาซึ่งยอดขายและรายได้  ปัจจุบันมีงานขายในหลากหลายรูปแบบที่เป็นที่ต้องการสูงทั้งการขายทางโทรศัพท์ การขายสินค้าที่ต้องใช้พื้นฐานความรู้ทางเทคนิคในวิชาชีพมาประกอบการทำงาน (Technical Sales)  เช่น วิศวกรขาย, ผู้แทนจำหน่ายยา รวมไปถึงสินค้าบางประเภทที่ต้องอาศัยพนักงานในการแนะนำและอธิบายรายละเอียดของสินค้า อาทิ สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์  กลุ่มสุขภาพและความงาม เป็นต้น 

งานวิศกร ถือเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กท์ต่างๆ ในส่วนของเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและระบบโทรคมนาคม ในหลากหลายสาขามีแนวโน้มความต้องการสูงรวมถึงงานระยะสั้นต่างๆ เนื่องจากสถานการณ์ที่กำลังฟื้นตัวทำให้เกิดข้อจำกัดด้านงบประมาณ  


สัญญาณบวกแรงงาน 5 กลุ่ม  ความต้องการพุ่ง หลังฉีดวัคซีน

10 อาชีพฟื้นครึ่งหลัง

อย่างไรก็ตามการใช้แรงงานในครึ่งปีหลังปีนี้เชื่อว่าจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติได้ และอัตราการใช้แรงงานมีทิศทางขยายตัวแต่ยังต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นตัวได้ตามปกติ โดยจะแปรผันตามทิศทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด กำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศมีมากขึ้น ทำให้แนวโน้มการจ้างงานมีมากขึ้นในบางธุรกิจ และบางธุรกิจเป็นรูปแบบของการจ้างงานระยะสั้น โดยครึ่งปีหลัง ทั้งการท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจบริการต่างๆ จะเห็นสัญญาณบวกจากมาตรการคลายล็อกและการเปิดประเทศจะทำให้ตลาดแรงงานมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาอีกครั้ง 

สัญญาณบวกแรงงาน 5 กลุ่ม  ความต้องการพุ่ง หลังฉีดวัคซีน

สำหรับแนวโน้มประเภทธุรกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังนี้ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์, ธุรกิจการเกษตร, ขนส่งและโลจิสติกส์, ยานยนต์, วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร เป็นต้น  

ส่วนทิศทางแรงงานที่คาดว่าจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังประกอบด้วย 1.งานฝ่ายผลิตและช่างเทคนิค 2.งานขายและงานการตลาด 3.งานไอที 4.งานวิศวกร 5.งานบริการลูกค้า 6.งานขนส่งและโลจิสติกส์ 7.งานธุรการ 8.งานบัญชีและการเงิน 9.งานการท่องเที่ยว 10.งานบริการเฉพาะด้าน เช่น ที่ปรึกษาด้านกฎ หมาย และที่ปรึกษาทางธุรกิจ 

สัญญาณบวกแรงงาน 5 กลุ่ม  ความต้องการพุ่ง หลังฉีดวัคซีน

จ้างงานOutsource นิยมมากขึ้น

นางสาวสุธิดา กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า หลังเผชิญโควิด ทำให้ยอดคำสั่งซื้อไม่คงที่ การวางแผนกำลังคนจึงเป็นเรื่องยากและมีความเสี่ยง แนวโน้มการจ้างของนายจ้างมีการหันมาใช้การจ้างงานในรูปแบบ Outsource เพิ่มมากขึ้น ด้วยสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดและการระบาดรอบใหม่, แรงงงานต่างด้าวที่กลับประเทศ รวมถึงข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ

สาเหตุดังกล่าวทำให้นายจ้างหันมาใช้ “แรงงานคนไทย” ในรูปแบบ Outsource มากขึ้นเพื่อบริหารจัดการต้นทุน โดยเริ่มจาก การทดลองใช้เป็นจ้างระยะเวลาสั้นๆ โดยระยะเวลาในการจ้างสั้นลง จาก 1 ปี เป็น 3-4 เดือน ตามความต้องการของลูกค้า ที่อาจยังคงไม่มากหรือต่อเนื่อง แต่ต้องการกำลังการผลิตสำหรับการทำตลาด หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทั้งจากในและต่างประเทศ ทั้งนี้การจ้างงานรูปแบบ “Outsource” นายจ้างสามารถเปลี่ยนจากพนักงานสัญญาจ้างมาเป็นพนักงานประจำได้ ยิ่งทำให้นายจ้างวางแผนกำลังคนได้กระชับ ประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบันที่ยังคงไม่แน่นอน และยังคงสามารถรักษากำลังการผลิตสำหรับอนาคตได้

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564