พิษโควิดฉุดจีดีพีไทยลด 13% ธปท.ย้ำนโยบายการเงินและการคลังต้องต่อเนื่อง

09 เม.ย. 2564 | 12:51 น.

พิษโควิดฉุดจีดีพีไทยลด 13% ธปท.ย้ำนโยบายการเงินและการคลังต้องต่อเนื่อง -คาดว่าระยะแรกธุรกิจพักทรัพย์พักหนี้ 3-5 หมื่นล้านบาท

พิษโควิดฉุดจีดีพีไทยลด 13% ธปท.ย้ำนโยบายการเงินการคลังต้องต่อเนื่องปรับโครงสร้างธุรกิจ-ยกศักยภาพเศรษฐกิจในอนาคต -เบื้องต้นคาดว่าจะมีการเบิกใช้วงเงินระยะแรกอยู่ที่ 3-5 หมื่นล้านบาท

พิษโควิดฉุดจีดีพีไทยลด 13% ธปท.ย้ำนโยบายการเงินและการคลังต้องต่อเนื่อง

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ระบาดของโควิด-19ได้ส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปรับลดลง13%จากช่วงก่อนหน้า ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา กว่า 2-3ปีจึงจะเห็นการฟื้นตัว และการระบาดของโควิดในรอบที่ 2 ได้มีมาตรการเติมสภาพคล่องและมาตรการเยียวยา  และสถานการณ์หลังโควิด-19 ยังมีความจำเป็นต้องมีมาตรการฟื้นฟูต่อไป

“ โจทย์สำคัญ แรงงานยังไม่ฟื้น ขณะเดียวกันยังมีประเด็นภาระหนี้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น  ซึ่งช็อคที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19ส่งผลให้จีดีพีของไทยลดลง 13%จากช่วงก่อนหน้า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องประสานนโยบายการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่อง”

ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ระยะสั้นได้ผ่อนคลายมาตรการดูแลและสนับสนุนด้านต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำ โดยผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3ครั้งในช่วงที่ผ่านมา และไตรมาส1ปีนี้ธปท.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50%ต่อปีให้น้ำหนักต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว  ขณะเดียวกันได้พิจารณาปรับลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน( FIDF)และดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนผ่านการทำ FX Ecosystem

นอกจากนี้ ได้ผ่อนกลายเกณฑ์เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ ช่วงที่มีความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นการสร้างเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤติ( Conservation Buffer)ให้สถาบันการเงินรองรับช็อคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันต่อพร้อมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ดำเนินนโยบายการเงินร่วมกับนโยบายการคลัง  แก้ปัญหาการกระจายสภาพคล่องสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยออก 2 มาตราการ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และ  “พักทรัพย์ พักหนี้” หรือ Asset Warehousing เม็ดเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการที่มาช่วยปิดช่องว่าง พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ซึ่งแนวทางกระจายวงเงินสินเชื่อฟื้นฟู 2.5 แสนล้านบาท(สินเชื่อฟื้นฟู) อาจจะออกเป็นเฟส  โดยช่วงแรกเน้นค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น และเฟสต่อไปจะเป็นการใส่เม็ดเงินเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ

สำหรับมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ออกแบบเพื่อธูรกิจที่ฟื้นตัวได้ช้าและใช้เวลานาน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเบิกใช้วงเงินระยะแรกอยู่ที่ 3-5 หมื่นล้านบาท

นายสักกะภพ กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการคลังว่า นโยบายการคลัง และนโนยายการเงินจำเป็นต้องมีต่อเนื่อง โดยนโยบายการคลังต้องเตรียมปฏิรูปเศรษฐกิจและยกศักยภาพเศรษฐกิจในอนาคต หลังจากได้ดำเนินเติมสภาพคล่องและเยียวยาในไตรมาสแรก และไตรมาสสองยังต้องเดินหน้าฟื้นฟูและเติมเม็ดเงินใหม่

“จุดที่ให้ความสำคัญปลายปีนี้จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินต้องต่อเนื่องรวมถึงนโยบายด้านอุปทานที่ปรับโครงสร้างธุรกิจ”   

ด้านภาวะทางการเงินโลกเผชิญความผันผวน จากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับตัวสูง แต่ตลาดเงินโลกส่งผ่านมาตลาดเงินไทยและตลาดพันธบัตรไทยยังค่อนข้างจำกัด  โดยตลาดพันธบัตรยังทำงานปกติแม้สภาพคล่องจะตึงตัวเล็กน้อย  นอกจากนี้หากพิจารณาจากภาคเอกชนที่มีการระดมทุนน่าจะยังเห็นเป็นปกติในไตรมาสแรก ขณะที่การระดมทุนที่พึงพิงต่างประเทศมีสัดส่วนเพียง 11% ส่วนใหญ่ระดมทุนผ่านธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก