อุตฯยานยนต์หวั่นโควิดทุบซํ้า ยอดยอดขายรถไตรมาสแรกร่วง 2%

11 เม.ย. 2564 | 03:40 น.

ยอดขายรถยนต์ไตรมาสแรกของปี 2564 ทำได้ 1.95 แสนคัน ร่วง 2% อุตสาหกรรมยานยนต์พร้อมรับมือโควิด-19 รอบสาม

ตลาดรถยนต์ปิดยอดขายไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.64) 1.95 แสนคัน ลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์หวั่นโควิด-19 รอบ 3 ทุบซํ้า จากปัญหาเดิมที่ขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต ทำให้หลายค่ายต้องเลื่อนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่มาแล้ว

จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรมยานยนต์ทั่วโลก ทำให้ยอดขายรวมในปี 2563 เหลือ 76.8 ล้านคัน ลดลงจาก 90 ล้านคันในปี 2562 ขณะที่ประเทศไทยในปี 2563 ผลิตรถยนต์รวม 1.4 ล้านคัน และขายในประเทศ 7.9 แสนคัน ลดลง 21%

อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปี 2564 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประเมินว่ากำลังผลิตรถยนต์ในประเทศปีนี้จะดีขึ้น จากการคลี่คลายของโรคโควิด-19 ด้วยการมาของวัคซีน และเริ่มเห็นยอดสั่งซื้อจากหลายประเทศกลับมา เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ทว่าสถานการณ์ไม่สวยงามดั่งที่คาด เหตุเพราะโดนปัจจัยลบใหม่คือ การขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต โดยเฉพาะเซมิคอนดัคเตอร์ หรือชิป ทำให้ต้นปี 2564 หลายค่ายผลิตรถไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันยังจำเป็นต้องเลื่อนแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกไปทั้งโตโยต้า และเมอร์เซเดส-เบนซ์

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ช่วงต้นปีทางกลุ่มมองว่ายอดผลิตรถยนต์ปี 2564 จะทำได้ 1.5 ล้านคัน แบ่งเป็นขายในประเทศ 7.5 แสนคัน และส่งออก 7.5 แสนคัน และถ้าสถานการณ์ดีขึ้น มีโอกาสทำตัวเลขขึ้นไปถึง 1.6 ล้านคันได้

“ยอดผลิตที่คาดการณ์กันเอาไว้ ตั้งบนสมมุติฐานของโควิด-19 ที่ยังคงมีผลต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศไทย และ ประเทศคู่ค้า และมีความกังวลใจต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ทั่วโลก” นายสุรพงษ์ กล่าว

ล่าสุด ประเทศไทยเจอผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 3 แม้รัฐบาลยืนยันไม่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่การดำเนินกิจการ การทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละพื้นที่อาจจะติดขัด ไม่เป็นไปตามแผน

“จากโควิด-19 รอบ2 เดือนธันวาคม 2563 ถึง มกราคม 2564 และปัญหาขาดชิ้นส่วนเพื่อการผลิต ทำให้ยอดขายไตรมาสแรกปีนี้ลดลงเยอะ จากเดิมคาดว่าสถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งปีหลัง แต่การแพร่ระบาดรอบใหม่ทำให้บริษัทต้องทบทวนแผนงานต่างๆ และปรับเป้าหมายการขายอีกครั้ง” แหล่งข่าวบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่กล่าว

ขณะที่ตลาดรถยนต์ปิดไตรมาสแรกของปี (ม.ค.-มี.ค.64) ด้วยยอดขาย 1.95 แสนคัน ลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แบ่งเป็นตัวเลขเดือนมกราคม 55,208 คัน กุมภาพันธ์ 58,960 คัน และมีนาคมซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการปิดปีงบประมาณ 2563 ทำยอดขายรวมทุกยี่ห้อพุ่งกว่า 8 หมื่นคัน

อย่างไรก็ตามก่อนโควิด-19แพร่ระบาดรอบที่ 3 ตลาดรถยนต์ตุนยอดจองเอาไว้จากงานบางกอก มอเตอร์โชว์ 2021 (ปิดงาน 4 เม.ย.) โดยยอดจองภายในงานทำได้ 27,868 คัน นำโดยโตโยต้า 4,406 คัน มาสด้า 3,454 คัน ฮอนด้า 3,305 คัน อีซูซุ 2,829 คัน ซูซูกิ 2,689 คัน และเมอร์เซเดส-เบนซ์ 1,863 คัน

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ต่างๆและการระบาดของโควิด-19 มาสด้าปรับเป้าหมายตลาดรวมปีนี้ จากคาดไว้ 8.4 แสนคัน เหลือ 8 แสนคัน ขณะที่มาสด้าตั้งเป้า 4.5 หมื่น ส่วนยอดจองรถภายในงานมอเตอร์โชว์ยังสูงเกินคาด

“เราได้การตอบรับจากงานมอเตอร์โชว์ดีเกินคาด โดยเฉพาะ Mazda 2,CX-30 และ CX-3 ช่วยกันผลักดันให้ยอดจองรถมาสด้ารวมถึง 3,454 คัน เทียบกับงานมอเตอร์โชว์ปีที่แล้วทำยอดจองสูงขึ้น 46% (จาก 2,365 คัน ในปี 2563)”นายชาญชัยกล่าว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564