อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "แข็งค่า"ที่ระดับ 31.40 บาท/ดอลลาร์

09 เม.ย. 2564 | 00:46 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหว "แข็งค่า"ขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ เหตุการระบาดของ COVID ระลอกใหม่ ยังมีโอกาสจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.40 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.47 บาทต่อดอลลาร์ 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า  ทิศทางของเงินบาทอาจไม่สอดคล้องกับสกุลเงินในฝั่งเอเชีย ที่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ เนื่องจาก สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ยังมีโอกาสที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น กอปรกับ ในช่วงสัปดาห์หลังสงกรานต์จะมีแรงซื้อสกุลเงินต่างชาติเพื่อจ่ายปันผล ทำให้ มีโอกาสที่จะยังคงเห็น เงินบาทแกว่งตัวเหนือกว่า ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ และอาจอ่อนค่าลงได้ หากจังหวะโฟลว์จ่ายปันผล มาพร้อมกับช่วงที่ตลาดปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์ไทย จากยอดผู้ติดเชื้อใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ซึ่งหากจังหวะดังกล่าว เกิดขึ้นพร้อมกับ เงินดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่าจากการเร่งตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็อาจจะเห็นเงินบาทอาจอ่อนค่าไปได้มากถึง 31.50-31.65 บาทต่อดอลลาร์ 

เราคงมองว่า ไตรมาสที่ 2 อาจเป็นไตรมาสสุดท้ายที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าหนักในปีนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน พร้อมกับ ใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงค่าเงินเพิ่มเติม อาทิ Options ควบคู่ไปกับการทำ Forward 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.35 - 31.45 บาท/ดอลลาร์

สำหรับตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) หลังจากที่ถ้อยแถลงของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างส่งสัญญาณสอดคล้องกันว่า เฟดจะยังคงไม่รีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินหรือยังไม่รีบลดการอัดฉีดสภาพคล่อง จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจนตามเป้าหมายของเฟด นอกจากนี้ ถ้อยแถลงดังกล่าวยังสะท้อนว่า เฟดไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เนื่องจากเฟดคงมุมมองว่า เงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นแค่ในระยะสั้น 

การเปิดรับความเสี่ยงดังกล่าวของตลาด ได้หนุนให้ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 0.42% ทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง ส่วนหุ้นในกลุ่มเทคฯและหุ้นเติบโต สามารถปรับตัวขึ้นโดดเด่น หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า 1% ส่วน ในฝั่งตลาดยุโรป ผู้เล่นบางส่วนเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากมุมมองที่เชื่อว่าเศรษฐกิจยุโรปจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง หนุนให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดบวก 0.53% ส่วนดัชนีหุ้นอังกฤษ (FTSE100) ก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 0.83% ตามความเชื่อมั่นการฟื้นตัวเศรษฐกิจอังกฤษ หลังการแจกจ่ายวัคซีนสามารถเร่งตัวขึ้น จนควบคุมการระบาดได้ดีขึ้น

แนวโน้มเฟดไม่เร่งรีบปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน นอกจากจะหนุนให้ตลาดเปิดรับความเสี่ยงแล้ว ยังช่วยหนุนให้ ราคาบอนด์ระยะยาวปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงกว่า 5bps สู่ระดับ 1.62%  ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯที่ย่อตัวลง รวมถึงแรงซื้อสินทรัพย์ในตลาดภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ ได้กดดันให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงกว่า 0.4% สู่ ระดับ 92.06 จุด โดย เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สู่ ระดับ 1.1917 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยน (JPY) ก็แข็งค่าสู่ระดับ 109.3 เยนต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ การปรับตัวลงของทั้งยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นกว่า 1% สู่ระดับ 1,755 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ตลาดจับตาทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ผ่านดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index, PPI) ในเดือนมีนาคม ที่ตลาดมองว่า PPI จะปรับตัวขึ้นกว่า 3.8% จากปีก่อนหน้า ซึ่งนับว่าเป็นการเร่งตัวขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนก่อนที่ปรับตัวขึ้นเพียง 2.8% โดยการเร่งตัวขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตนั้นสอดคล้องกับ การปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์จากระดับฐานราคาที่ต่ำมากในปีที่แล้ว ทั้งนี้ การเร่งตัวขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิต อาจสะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อหรือดัชนีราคาผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นเช่นกัน ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเงินเฟ้อและเลือกที่จะเทขายบอนด์ระยะยาว กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาเร่งตัวขึ้น กดดันภาพรวมตลาดการเงิน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯและหุ้นเติบโตได้อีกครั้ง นอกจากนี้ ในฝั่งไทย ตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่อาจทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่รีบกลับมาเปิดรับความเสี่ยง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (9 เม.ย.) เคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบประมาณ 31.33-31.43 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 31.47 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวานนี้ ทั้งนี้แม้เงินดอลลาร์ฯ จะมีปัจจัยลบจากข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด แต่เงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด และอาจเผชิญแรงกดดันในระหว่างวันจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศระลอกที่สามซึ่งมีการแพร่กระจายออกไปในหลายจังหวัดอย่างรวดเร็ว
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.25-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการดูแลโควิด 19 ในประเทศ ตลอดจนข้อมูลเงินเฟ้อที่วัดจาก CPI และ PPI ของจีน และข้อมูล   PPI ของสหรัฐฯ