หอมมะลิไทยแข่งเดือดในจีน ราคาถูกลง 5 พัน/ตันขายดีขึ้น/เขมร-ญวนตามแย่งแชร์

27 เม.ย. 2559 | 09:00 น.
จีนสบจังหวะข้าวหอมมะลิไทยถูกลงกว่า 5 พันบาทต่อตัน สั่งนำเข้าเพิ่ม พร้อมแข่งทำโปรโมชันเรียกลูกค้า สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุปีที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวไปจีนได้ 9.5 แสนตัน อานิสงส์ข้าวจีทูจีล้านตันแรกทยอยรับมอบแล้วเกือบหมดช่วยดันตัวเลข ขณะปีนี้ลุ้นสัญญาล้านตันที่ 2 ช่วยคงระดับการขาย ยอมรับตลาดข้าวหอมมะลิไทยในจีนนับวันขีดแข่งขันแย่ลง ถูกข้าวหอมกัมพูชา-เวียดนามแย่งแชร์หนัก

[caption id="attachment_47779" align="aligncenter" width="503"] ตลาดส่งออกข้าวไทย 5 อันดับแรก ตลาดส่งออกข้าวไทย 5 อันดับแรก[/caption]

นางมาลีรัตน์ ทิพย์อารักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซียะเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เดินทางเข้าพบและหารือกับนายกัว เฉิง จื้อ ประธานกรรมการ บริษัท Xiamen Mifeng C&O Trading จำกัด ผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายข้าวหอมมะลิไทยตรากระต่ายทองในตลาดมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลใกล้เคียง เพื่อขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยของปี 2559

โดยตอนหนึ่งนายกัว เฉิง จื้อ กล่าวว่า สถานการณ์การนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยและการจำหน่ายข้าวไทยในช่วงต้นปี 2559 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดจะมีทิศทางที่ดีตลอดปี 2559 ทั้งนี้เป็นผลจากตั้งแต่ต้นปี 2559 ข้าวหอมมะลิจากไทยมีราคานำเข้าลดลงหรือถูกกว่าปีก่อนตันละ 1 พันหยวน หรือประมาณ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ(ถูกลงกว่า 5 พันบาทต่อตัน) ทำให้บริษัทมีปริมาณการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น

สำหรับสาเหตุที่ข้าวหอมมะลิไทยมีราคานำเข้าลดลง เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลไทยได้ทยอยนำข้าวในสต๊อกไว้ตั้งแต่ปี 2557 ออกจำหน่าย ประกอบกับผลผลิตข้าวใหม่ในปี 2558 ทำให้ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ราคาข้าวไทยจึงลดลงตามกลไกตลาด โดยหากเทียบราคานำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยในช่วงต้นปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.030 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ช่วงต้นปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ตันละประมาณ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ

จากผลพวงดังกล่าวทางบริษัทได้คืนกำไรให้กับตัวแทนจำหน่ายข้าวด้วยการแถมข้าวเพื่อเป็นส่วนลดให้แก่ตัวแทนจำหน่าย เช่น ตัวแทนจำหน่ายซื้อข้าว 1 ตัน บริษัทจะแถมข้าวให้ 50 กิโลกรัม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ตัวแทนจำหน่ายมีกำลังใจ และกระตุ้นการเพิ่มยอดขายข้าวหอมมะลิไทย นอกจากนี้ยังมีผลให้เกิดตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ซึ่งเดิมรับซื้อข้าวจากบริษัทอื่น เริ่มเข้ามารับซื้อข้าวจากบริษัทเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีปัจจุบันคู่แข่งที่สำคัญของข้าวหอมมะลิไทยคือผลิตภัณฑ์ข้าวจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งมีราคาถูกและคุณภาพดีคือข้าวพันธุ์ DaoHuaXiang เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับความนิยมอย่างมากและอย่างยาวนานในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน

อย่างไรก็ตามขณะนี้ผลิตภัณฑ์ข้าวดังกล่าวของจีนก็ประสบปัญหาข้าวปลอมปนเช่นเดียวกับข้าวหอมมะลิของไทย โดยมีรายงานว่าพบข้าวพันธุ์ DaoHuaXiang ปลอมถึงร้อยละ 90 วางจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งเป็นในลักษณะเดียวกับในช่วงหลายปีก่อนบริษัทเคยพบข้าวหอมมะลิไทยตรากระต่ายทองปลอมในท้องตลาดเช่นกัน แต่ปัจจุบันไม่พบแล้วหลังจากบริษัทได้ทำการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ลอกเลียนแบบได้ยากขึ้น

ด้านร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในปี 2558 ไทยส่งออกข้าวไปจีนได้กว่า 9.58 แสนตัน ในจำนวนนี้เป็นข้าวหอมมะลิที่ส่งออกโดยภาคเอกชนประมาณ 1.5 แสนตัน ที่เหลือเป็นข้าวขาว 5% ที่ได้มีการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีใน 1 ล้านตันแรก(ล่าสุดกำลังส่งมอบใน 1.3 แสนตันสุดท้าย) ในปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวไปจีนได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาหรือไม่ ขึ้นกับข้าวจีทูจีใน 1 ล้านตันที่ 2 ที่ตัวแทนรัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามในสัญญากันไว้ว่าจะมีการเจรจาเรื่องราคา รวมถึงปริมาณที่จะส่งเป็นล็อต ๆ ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า

"คู่แข่งที่สำคัญของข้าวหอมมะลิไทยในจีนคือข้าวหอมมะลิจากกัมพูชา และข้าวหอมจากเวียดนามที่ส่วนหนึ่งเขามีการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากกัมพูชาตามแนวชายแดน และส่งออกต่อไปจีน โดยเวลานี้ราคาข้าวหอมมะลิไทยได้ลดลงจากช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าวที่เฉลี่ยสูงกว่า 1 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันลดลงมาสูสีกับข้าวหอมของกัมพูชาคืออยู่ที่ระดับกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันใกล้เคียงกัน ส่วนข้าวหอมมะลิของเวียดนามอยู่ที่ระดับ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ปัญหาที่สำคัญของข้าวหอมมะลิไทยอีกประการหนึ่งคือความหอมของข้าวหอมมะลิไทยที่ถือเป็นจุดขายมีความหอมลดลง ตามสภาพอากาศและลักษณะการเก็บเกี่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป หากข้าวเราไม่หอมแล้วยังมีราคาแพงกว่าก็จะแข่งขันลำบากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายคงต้องช่วยกันแก้ไขในเรื่องนี้"

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559