ข้อควรรู้และประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการ  “พักทรัพย์ พักหนี้”

07 เม.ย. 2564 | 20:35 น.

ตามที่ภาครัฐได้ร่วมกันจัดทำมาตรการทางการเงินเพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจ 2 โครงการ ได้แก่ (1) “สินเชื่อฟื้นฟู” และ (2) “พักทรัพย์ พักหนี้” หลายท่านอาจยังสับสนว่า โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ซึ่งเป็นมาตการใหม่นั้น คืออะไร มีกลไกอย่างไร และใครมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการนี้บ้าง วันนี้ผู้เขียนขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้ 

โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ถูกออกแบบมา เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ขาดหาย ไม่พอชำระหนี้และค่าใช้จ่ายหมุนเวียนต่างๆ แต่ยังมีศักยภาพและมีความตั้งใจในการรักษาธุรกิจ ให้มีภาระหนี้ลดลงและสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ผ่านกลไกการรับโอนสินทรัพย์หลักประกัน เพื่อชำระหนี้ของสถาบันการเงิน พร้อมให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจในการซื้อทรัพย์คืนที่ราคาตีโอนบวกต้นทุนการดูแลทรัพย์ที่ตํ่ามากและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น คุณลักษณะขั้นตํ่าของผู้ประกอบธุรกิจที่จะเข้าร่วมโครงการคือ ต้องมีวงเงินสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจที่มีหลักประกันในการขอสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงิน 

กลไกการโอนหลักประกัน อาจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเกิดความกังวลใจว่า ถ้าเข้าร่วมโครงการจะต้องสูญเสียกิจการไปให้กับสถาบันการเงินหรือไม่ ผู้เขียนขอย้ำว่า เป้าหมายสำคัญของมาตรการนี้คือ การบรรเทาภาระทางการเงินให้ผู้ประกอบธุรกิจเบาตัวในช่วงที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง ดังนั้น จึงกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการกลับมาประกอบธุรกิจ เช่น การให้สิทธิในการซื้อทรัพย์คืนและเช่าทรัพย์ได้เป็นลำดับแรก โดยกำหนดราคาซื้อคืนให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาที่ผู้ประกอบธุรกิจและสถาบันการเงินตกลง ตีโอนกัน กล่าวคือ ขายเท่าไหร่ก็ซื้อคืนราคาใกล้ๆนั้น รวมถึง การคิดค่าเช่าก็ต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบธุรกิจด้วย ซึ่งค่าเช่าที่จ่ายนี้จะถูกนำไปหักออกจากราคาซื้อคืนไม่ให้มีค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน 

โครงการนี้ไม่ได้จำกัดประเภทธุรกิจ ขนาดธุรกิจ และประเภทของหลักประกันที่สามารถโอนชำระหนี้ได้แต่อย่างใด แต่สถาบันการเงินอาจกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาหลักประกันเพิ่มเติม เช่น ต้องมีคุณภาพดี ไม่เสื่อมค่าเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่สถาบันการเงินจะต้องถือสินทรัพย์ไว้เป็นเวลานานหลายปี และต้องแบกรับภาระต้นทุนต่างๆ กับความไม่แน่นอนที่ว่า ผู้ประกอบธุรกิจจะซื้อสินทรัพย์กลับคืนหรือไม่ และมูลค่าสินทรัพย์ในอนาคตจะเป็นเท่าไหร่

สำหรับประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับคือ ลดภาระเงินต้นและดอกเบี้ย 3-5 ปี รู้ราคาซื้อคืนที่แน่นอน สามารถเช่าไปทำธุรกิจต่อได้ ไม่ถูกยึดหรือกดราคาขายให้กับกลุ่มทุน ได้ปิดภาระหนี้กับสถาบันการเงินทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องประวัติใน NCB หากหนี้กลายเป็นหนี้เสียในอนาคต อีกทั้ง ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีค่าธรรมเนียมจากการตีโอนอีกด้วย

ผู้ประกอบธุรกิจที่ติดขัดทางการเงิน แต่ไม่เข้าข่ายที่จะเข้าตามมาตรการนี้ อาจพิจารณาทางเลือกอื่นร่วมกับสถาบันการเงินในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามกลไกปกติได้ เช่น ยืดเวลาชำระหนี้ ลดอัตราการผ่อนชำระ พักชำระหนี้เงินต้น แปลงหนี้เป็นทุน รวมถึงตีโอนทรัพย์เพื่อชำระหนี้ทั่วไป นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม SMEs ที่สามารถประคับประคองกิจการและเริ่มปรับตัวมองไปข้างหน้า หากต้องการสินเชื่อหมุนเวียนหรือปรับรูปแบบธุรกิจก็สามารถขอรับความช่วยเหลือในส่วนของมาตรการ “สินเชื่อฟื้นฟู” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการทางการเงินใหม่เพื่อฟื้นฟู ภาคธุรกิจในครั้งนี้ได้ 

ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจเลือกหนทางในการแก้ไขปัญหา ผู้ประกอบธุรกิจควรเปรียบเทียบเงื่อนไข และข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบ รวมถึง อ่านเงื่อนไขในสัญญาอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ ลดความเสี่ยงและปิดความไม่แน่นอนในอนาคต เช่น โคงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” แม้ ธปท.จะกำหนดให้มีเงื่อนไขมาตรฐาน แต่ก็ยังมีเงื่อนไขอื่นที่ควรตรวจสอบและเจรจาต่อรองให้ตรงกับความต้องการและมีความชัดเจนโดยเฉพาะการให้สินเชื่อระหว่างอยู่ในโครงการและตอนซื้อคืนทรัพย์ที่หลายๆ ท่านอาจกังวลอยู่

 

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์

โดย : ต้องกมล กสิศิลป์ 

ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน2 ธปท. 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564