แห่พักหนี้แสนล. ซอฟต์โลนคืนชีพธุรกิจ ลุ้น 9 เม.ย.คลอดพรก. 3.5แสนล้าน

07 เม.ย. 2564 | 19:05 น.

รมว.ท่องเที่ยวคาด พ.ร.ก.ซอฟต์โลนใหม่ คลอด 9 เม.ย. เชื่อปลดล็อกเงื่อนไข ช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยว เข้าถึงแหล่งเงิน ส่วนสายการบินแห้ว เงื่อนไขไม่ตอบโจทย์ ลุ้นซอฟต์โลนเอ็กซิมต่อ แบงก์เผยผล Survey ลูกค้าสนใจ “พักทรัพย์ พักหนี้” ร่วม 1 แสนล้านบาท เชื่อวงเงิน 3.5 แสนล้านรองรับพอ

ความคืบหน้ามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 23 มีนาคม ที่เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟู) วงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท ภายใต้ 2 มาตรการหลักคือ 1.สินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และ 2. โครงการ พักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะนำเสนอเข้าวาระการประชุมครม.ในต้นเดือนเมษายนนี้

 

พรก.คลอด9เม.ย.

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า รัฐบาลคาดว่า จะออกพ.ร.ก.ซอฟต์โลนใหม่ ได้ในวันที่ 9 เมษายนนี้  โดยมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าในครั้งนี้ มีการผ่อนคลายในเรื่องที่จะทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ แตกต่างจากซอฟต์โลนที่ออกมาก่อนหน้านี้

“ซอฟต์โลนครั้งใหม่นี้ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ต้องลงมาช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างจริงจังก่อนออกซิเจนจะหมด ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีท่องเที่ยว รวมถึงรถเช่า ร้านอาหาร ที่จะเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างโรงแรมใหญ่ที่ไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนที่ผ่านมาได้ เพราะต้องการกู้เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งในประเด็นนี้ ผมได้หารือส่วนตัวกับทางนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ก็จะมีการขยายวงเงินกู้ให้ และมีการหารือการขอซอฟต์โลนเป็นรายบุคคลก็ทำได้ เพราะธุรกิจไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายเล็กล้วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19” นายพิพัฒน์กล่าว

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ)กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมต่างรอให้รัฐบาลออกพ.ร.ก.ซอฟต์โลน ซึ่งจะมีทั้งเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าและโครงการ พักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อช่วยธุรกิจฝ่าวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ต่างประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง เพราะไม่มีรายได้ แต่แบกรับค่าใช้จ่ายมากว่า 1 ปีแล้ว 

ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขของซอฟต์โลนใหม่ที่จะออกมานี้ ทางเอกชนกำลังรอดูว่า จะมีการปลดล็อกเรื่องที่เคยเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเบื้องต้นเท่าที่ทราบจากเดิมที่ระบุว่า เจ้าของรวมธุรกิจต่างๆ แล้วจะยื่นกู้ได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ก็เปิดให้แต่ละธุรกิจยื่นกู้ไม่ได้เกิน 500 ล้านบาทต่อบริษัท รวมถึงการให้บรรษัทประสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยคํ้าได้เพิ่มขึ้น 

แห่พักหนี้แสนล.  ซอฟต์โลนคืนชีพธุรกิจ  ลุ้น 9 เม.ย.คลอดพรก. 3.5แสนล้าน

คาดสินเชื่อฟื้นฟูฮอต 

สำหรับความสนใจเข้ารับความช่วยเหลือดังกล่าวคาดว่า ผู้ประกอบการต้องคิดว่า จะเลือกซอฟต์โลน หรือเข้าโครงการ พักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งถ้าธุรกิจไม่ไหวจริงๆ ทางออกในการเข้าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ก็ช่วยได้ดีกว่าไปขายกิจการให้ต่างชาติ และถูกกดราคาลง ขณะเดียวกัน ในกลุ่มธุรกิจที่ยังคิดว่าพอสู้ได้ ระหว่างรอการเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวในปีหน้า กลุ่มนี้จะเลือกแนวทางการขอซอฟต์โลนมากกว่า 

ทั้งนี้เนื่องจาก โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ จะมีความเสี่ยงในอนาคตว่า เจ้าของจะมีศักยภาพในการหาเงินมาซื้อโรงแรมคืนหรือไม่ ท่ามกลางการท่องเที่ยวที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวและมีเรื่องของโควิดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายต้องประเมินสถานะของตัวเอง เพราะขณะนี้ธุรกิจต้องการเงิน เพื่อใช้เป็นสภาพคล่องเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ธุรกิจบางส่วนที่ปิดกิจการชั่วคราวไปเป็นเวลานาน ก็มีความต้องการซอฟต์โลน เพื่อกลับมาดำเนินธุรกิจใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะในภูเก็ต ที่รัฐบาลผลักดันภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ 1 กรกฎาคมนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วไม่ต้องกักตัว   

 

7สายการบินแห้ว

นายกฤษ พัฒนสาร เลขาธิการสมาคมสายการบินประเทศกล่าวว่า แม้การออกซอฟต์โลนใหม่ของรัฐบาลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ออกมาบอกว่า ไม่ได้ปิดกั้นธุรกิจสายการบินให้มาเข้าร่วมโครงการ แต่เมื่อดูรายละเอียดในเงื่อนไขแล้วพบว่า ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจการบิน เนื่องจากธุรกิจสายการบินส่วนใหญ่ไม่ได้มีสินทรัพย์เหมือนโรงแรม เครื่องบิน สำนักงาน ก็ใช้วิธีการเช่า คาร์โก้ ก็ไม่มีได้จำนวนมาก ส่วนวงเงินซอฟต์โลน ก็ได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อธุรกิจ ที่เหมาะสมธุรกิจเอสเอ็มอีมากกว่า 

ดังนั้นขณะนี้ทั้ง 7 สายการบินเอกชนของไทย ก็ยังคงต้องรอความชัดเจนเรื่องที่ขอซอฟต์โลน ที่ขอวงเงินรวมกัน 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาสายการบินได้หารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) รวมถึงธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ซึ่งรอทางกระทรวงการคลังพิจารณาในเรื่องนี้อยู่

แหล่งข่าวจากสมาคมธนาคารไทยระบุว่า กระบวนการ ออกพ.ร.ก.ครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมและแลกเปลี่ยนความเห็นกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งที่สถาบันการเงินเสนอไปยังธปท.ก็ได้รับการรับฟังและถ้ารูปแบบโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ออกมาตามที่ได้หารือและตกลงกันไว้ ธนาคารสมาชิกทุกแห่งจะรู้สึกสบายใจ แต่ก็รอลุ้นว่า พ.ร.ก.จะได้รับเห็นชอบตามที่ได้ตกลงกันหรือไม่ ซึ่งหลังครม.เห็นชอบแล้ว ยังมีขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งน่าจะได้รับการอนุมัติโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารสมาชิกได้สำรวจ(Survey) ลูกค้าแต่ละแห่งพบว่า ลูกค้ามีความสนใจโครงการพักทรัพย์ พักหนี้เกือบ 1 แสนล้านบาท ส่วนสินเชื่อฟื้นฟูก็เป็นที่สนใจ คาดว่าวงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาทน่าจะเพียงพอต่อความต้องการของทั้ง 2 มาตรการ เพราะเงื่อนไขถูกปลดล็อกและแก้ปัญหาทุกประเด็นของซอฟต์โลนเดิมเช่น ขยายวงเงิน 30%ของวงเงินสินเชื่อรวมเดิม ขยายเวลาเป็น 5ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5%ต่อปีและมีบสย.คํ้าประกัน 2 ชั้นคือ คํ้าประกันสินเชื่อต่อพอร์ตและคํ้าประกันระดับกลุ่มหรืออุตสาหกรรม 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564