อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "แข็งค่า" ที่ระดับ  31.30บาท/ดอลลาร์

07 เม.ย. 2564 | 00:24 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.30 บาทต่อดอลลาร์"แข็งค่า"ในระยะสั้น 1-2 เดือนข้างหน้า เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบ หรือ กลับมาแข็งค่าขึ้นได้

 

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.30 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.41 บาทต่อดอลลาร์ 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ เริ่มขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้แตะจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All Time High) อีกครั้ง ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ปัจจัยบวกที่หนุนให้ตลาดปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง อาทิ แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่ง ได้ถูกรับรู้ไปบ้างแล้ว (priced-in) ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในอนาคตอย่าง การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ยังไม่ได้ถูกรับรู้ไปมากนักในราคาสินทรัพย์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะทยอยลดความเสี่ยงไปก่อน จนกว่าจะมีการรับรู้ปัจจัยบวกใหม่ อย่าง ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้นกว่าคาด  

การทยอยลดความเสี่ยงดังกล่าวของตลาด ได้ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย 0.10% ส่วน ดัชนี Dow Jones ปิดลบกว่า 0.3% อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดยุโรป ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังว่าเศรษฐกิจยุโรปจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลงในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า หนุนให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดบวกกว่า 0.6% นำโดย ดัชนี DAX ของเยอรมนีที่ปรับตัวขึ้นกว่า 0.7% 

นอกจากนี้ ภาพการทยอยลดสินทรัพย์เสี่ยงที่ราคาปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนกลับเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงกว่า 4bps สู่ระดับ 1.66% ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ย่อตัวลงได้กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงราว 0.3% สู่ระดับ 92.33 จุด ขณะที่ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นกว่า 0.5% กลับมายืนเหนือระดับ 1.187 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยน (JPY) ก็แข็งค่าขึ้น 0.2% สู่ระดับ 109.75 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นกว่า 0.9% สู่ระดับ 1,744 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ประเด็นสำคัญที่ตลาดจะติดตามยังคงเป็นแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รวมถึง การแจกจ่ายวัคซีน โดยในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดมองว่า ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Charles Evans และ Thomas Barkin จะย้ำมุมมองของเฟดที่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนของการระบาด COVID-19 อยู่ ทำให้เฟดจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายไปก่อน ทั้งนี้ ตลาดจะจับตามุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ ว่าจะส่งผลต่อการปรับนโยบายการเงินของเฟดอย่างไร ส่วนในฝั่งเอเชีย สถานการณ์การระบาดในประเทศอินเดียที่ยังคงรุนแรงอยู่และมาพร้อมกับการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) ไว้ที่ระดับ 4.00%

และในฝั่งไทย ตลาดจะติดตามมาตรการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ของรัฐบาล หลังจากที่เกิดคลัสเตอร์ระบาดใหม่ที่อาจส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรุนแรงในช่วงเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ได้

ในส่วนค่าเงินบาท เรามองว่า โอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงยังมีอยู่ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้าง แต่เรามองว่า ในระยะสั้น 1-2 เดือนข้างหน้า เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบ หรือ กลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวได้แข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยจุดจบของการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์จะขึ้นกับ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปเป็นสำคัญ กอปรกับ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้ นักลงทุนต่างชาติอาจลดสถานะถือครองหุ้นไทยลง ทำให้ฟันด์โฟลว์ต่างชาติมีโอกาสไหลออกสุทธิ นอกจากนี้ แรงซื้อสกุลเงินต่างชาติเพื่อจ่ายปันผลก็จะเริ่มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ เราคงมองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าแค่ระยะสั้น ก่อนจะที่กลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้ง 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.25 - 31.40 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (7 เม.ย.) เคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 31.26-31.31 บาทต่อดอลลาร์ฯ "แข็งค่า"เมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาที่ 31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามทิศทางการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) โดยบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ลดลง 7 basis points มาที่ระดับ 1.66% นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงขายทำกำไรก่อนการเปิดเผยบันทึกการประชุมเฟด ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 16-17 มีนาคมที่ผ่านมา 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.25-31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการของยูโรโซนและอังกฤษเดือนมีนาคม