อาเซียนแกว่ง ไทยอ่วมโดนกีดกันการค้า-EV จีน

06 เม.ย. 2564 | 19:30 น.

อุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียน เปิดการค้าเสรีไม่ได้ตามอุดมคติ ไทยอ่วมโดนมาตรการกีดกันการค้า Safeguard จากฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศเวียดนาม มาเลเซีย

แม้อาเซียน 10 ประเทศ มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี ASEAN Free Trade Area (AFTA) และอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก เพื่อรวมฐานการผลิตเป็นหนึ่งเดียว โดยยานยนต์ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสมาชิกจะไม่เสียภาษีนำเข้าระหว่างกัน ทว่าในความเป็นจริงแต่ละประเทศยังใช้ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี Non-Tariff Barriers (NBT) ในรูปแบบต่างๆ หวังรักษาฐานการผลิตในประเทศของตนเอง ซึ่งไทยที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีกำลังผลิตระดับ 2 ล้านคันต่อปี ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้

ที่ผ่านมา “มาเลเซีย” เก็บภาษีการขายรถนำเข้า สูงกว่ารถที่ผลิตในประเทศ ด้าน “เวียดนาม” มีข้ออ้างตรวจสอบรถยนต์นำเข้าทุกคัน เพิ่มต้นทุนและเพิ่มอุปสรรคในการส่งออก ขณะที่ “ฟิลิปปินส์” ตอบโต้ไทยเรื่องภาษีบุหรี่ จึงออกมาตรการ Safeguard เก็บภาษีเพิ่มกับสินค้าไทยหลายประเภทรวมถึงรถยนต์

สำหรับ มาตรการเก็บอากรป้องกันชั่วคราว Safeguard ในส่วนรถยนต์นำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 30% มีผลถึงเดือนสิงหาคม 2564 (ระหว่างนี้ต้องเจรจา และตรวจสอบข้อมูลระหว่างกัน)

นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาไทยส่งออกรถยนต์ไปฟิลิปปินส์ ประมาณ 1.3 แสนคันต่อปี แต่มาตรการ Safeguard จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกแน่นอน สะท้อนให้เห็นว่าภาพภายนอกของอาเซียนดูรวมกัน แต่จริงๆ แข่งขันกันหนัก จึงอยากให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือ

“อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ดังนั้นหลายประเทศอยากบล็อกเรา เพราะเขามีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนที่ต้องสร้างให้เข้มแข็งแม้ทางสมาคมฯ มีคณะกรรมการที่ทำงานเรื่องต่างประเทศ แต่ในภาพใหญ่อยากให้รัฐบาลช่วยเจรจาผ่านองค์กรการค้าโลก (WTO)เพราะคาดว่า นโยบายการกีดกันทางการค้าจะมีแนวโน้มหนักขึ้นเรื่อยๆ” นายองอาจกล่าว

ด้านแหล่งข่าว ผู้บริหารนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า นิสสัน กำลังประเมินผลกระทบในมาตรการ Safeguard ของฟิลิปปินส์ เพราะที่ผ่านมา นิสสัน เทอร์รา ที่ส่งไปจากประเทศไทยได้การตอบรับดีมาก

อาเซียนแกว่ง ไทยอ่วมโดนกีดกันการค้า-EV จีน

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ต่างมองการณ์ไกลในปัญหาต่างๆ เหล่านี้ และพยายามกระจายโรงงานผลิตไปในแต่ละประเทศ ทั้ง โตโยต้า ฮอนด้า และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส โดยรายหลังตั้งเป้าให้อาเซียน เป็นฐานธุรกิจที่สำคัญที่สุดของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในโลก (ทั้งการผลิตและการขาย)

“การลงทุนเพิ่มเติมในอาเซียน ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันกันในแต่ละประเทศ แต่เป็นการสร้างธุรกิจในภูมิภาคนี้ให้เติบโตไปด้วยกัน โดยอาเซียนจะเป็นตลาดหลักของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส มียอดขายต่อปีมากที่สุดในโลก  (มากกว่าญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา)” นายโมะริคาซุ ชกกิ ประธานคณะกรรมการบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กล่าว

สำหรับมิตซูบิชิ มอเตอร์ส มีกำลังการผลิตรถยนต์เต็มที่ในไทย 4.24 แสนคัน/ปี อินโดนีเซีย 2 แสนคันต่อปี ฟิลิปปินส์ 5 หมื่นคันต่อปี เวียดนาม 1 หมื่นคันต่อปี

นอกจาก มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในอาเซียนแล้ว นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย อยากให้รัฐบาลแก้ไขข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ที่สามารถนำเข้าอีวี จากจีนมาโดยไม่เสียภาษีนำเข้า ซึ่งมีผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ภาษีนำเข้า 0% ให้อีวีจีน คงปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะจีนมี อีวี หลายแบรนด์ หรือถ้าเทียบยอดขาย(รวมรถ ICE) ไทยประมาณ 1 ล้านคันต่อปี แต่จีนขายรถ 30 ล้านคันต่อปี ดังนั้นต่อไปทุกโมเดลอาจจะมาขายในไทย ซึ่งจะกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ที่การผลิตไม่สามารถทำอีโคโนมีออฟสเกลได้

“อีวีจีน 0% ภายใต้กรอบ FTA อาเซียน ต้องแก้ไขให้ได้ หากรัฐบาลหวังสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ”

ส่วนประเด็น ที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ตั้งธงให้รถยนต์ที่ขายในไทยตั้งแต่ปี 2578 ต้องเป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% นายองอาจ ให้ความเห็นว่า เป้าหมายนี้สามารถทำได้จริงหรือเปล่ายังไม่ทราบ แต่การส่งสัญญาณแรงแบบนี้ มีผลต่อความมั่นใจในการลงทุนของผู้ผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นค่าย ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา

“สมาคมฯ อยากให้อีวี เกิดเช่นกัน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ยั่งยืน และมีมูลค่าเพิ่มในประเทศ ซึ่งการตั้งเป้าขายอีวี ทั้งหมดในปี 2578 ไม่ใช่เรื่องง่าย”นายองอาจกล่าว

ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ประเมินว่า ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศปี 2564 จะทำได้อย่างตํ่า 1.5 ล้านคัน แต่ถ้าสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น มีโอกาสขยับขึ้นไปได้ถึง 1.7-1.8 ล้านคัน แบ่งเป็นการขายในประเทศและส่งออกในสัดส่วน 50:50 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564