เหตุผลสำคัญที่ JAL ต้องปลดระวางฝูงโบอิ้ง 777 ก่อนกำหนดถึง 13 ลำ

06 เม.ย. 2564 | 04:31 น.

กรณีเครื่องบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ เครื่องยนต์ระเบิดกลางอากาศเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้สายการบิน JAL ตัดสินใจปลดระวางเครื่องโบอิ้ง 777 จำนวน 13 ลำที่ใช้เครื่องยนต์รุ่นเจ้าปัญหาก่อนกำหนดการเดิมถึง 1 ปี

เหตุการณ์ เครื่องบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ เครื่องยนต์ระเบิดกลางอากาศ ทำให้ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ตกลงมาเกลื่อนเมืองก่อนลงจอดฉุกเฉินในรัฐโคโลราโดเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้สายการบินอื่น ๆที่ใช้เครื่องบินรุ่นเดียวกัน เครื่องยนต์แบบเดียวกัน ต้องคิดหนักเมื่อทาง บริษัท โบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบิน ออกโรงเตือนเองว่า ควรระงับการนำ เครื่องบินโบอิ้ง 777 รุ่นที่ติดตั้ง เครื่องยนต์ P&W ขึ้นบินจนกว่าหน่วยงานของทางการสหรัฐจะสามารถกำหนดขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยที่เหมาะสมได้

หนึ่งในสายการบินที่ดำเนินการเชิงรุกในเรื่องนี้ คือสายการบิน"เจแปน แอร์ไลน์" หรือ JAL ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า บริษัทตัดสินใจปลดระวางฝูงบินโบอิ้ง 777 จำนวน 13 ลำที่ใช้เครื่องยนต์ของบริษัท แพรตต์ แอนด์ วิตนีย์ ( Pratt & Whitney หรือ PW) เร็วกว่ากำหนด 1 ปี โดยทางสายการบินได้ระงับการใช้งานเครื่องบินเหล่านี้มาตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุการณ์เครื่องยนต์ระเบิดบนเครื่องบินของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ในเดือนก.พ.ดังกล่าวข้างต้น

เว็บไซต์ทางการของสายการบิน JAL เปิดเผยว่า บริษัทตัดสินใจที่จะเร่งปลดประจำการเครื่องบินโบอิ้ง 777 ทั้งหมดที่ใช้เครื่องยนต์ PW ภายในเดือนมี.ค. 2564 จากเดิมที่วางแผนไว้ในเดือนมี.ค. 2565 ซึ่งเป็นการดำเนินการที่เร็วกว่ากำหนด 1 ปี

เหตุผลสำคัญที่ JAL ต้องปลดระวางฝูงโบอิ้ง 777 ก่อนกำหนดถึง 13 ลำ

 

ด้านบริษัทโบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐได้เคยออกแถลงการณ์ในช่วงที่เกิดเหตุกับเครื่องบินของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์สว่า ทางบริษัทขอแนะนำให้สายการบินต่าง ๆ ระงับการให้บริการด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์รุ่น Pratt & Whitney PW4000-112 เป็นการชั่วคราว จนกว่าสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) จะสามารถกำหนดขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยที่เหมาะสมได้

ทั้งนี้ เหตุการณ์ในครั้งนั้น เครื่องบินของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ส ซึ่งมีผู้โดยสารและลูกเรือกว่า 200 ราย สามารถประคองเครื่องบินร่อนลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินนานาชาติเดนเวอร์ได้อย่างปลอดภัย ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ แม้เครื่องยนต์ด้านขวาจะเกิดระเบิดและมีชิ้นส่วนตกจากกลางอากาศหล่นใส่ชุมชนใกล้สนามบิน

ในส่วนของสายการบิน JAL เองเคยประสบปัญหากับเครื่องบินรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ PW4000 มาแล้วเช่นกัน โดยเหตุเกิดกับเครื่องโบอิ้ง 777 เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เครื่องยนต์เกิดขัดข้อง ทำงานผิดปกติ ทำให้เครื่องบินดังกล่าวที่กำลังบินมุ่งหน้าสู่เมืองโตเกียวต้องวกกลับสู่สนามบินต้นทางในเมืองโอกินาวา

ข่าวระบุว่าเครื่องยนต์ของแพรตต์ แอนด์ วิตนีย์ รุ่นนี้ มักจะใช้กับเครื่องบินโบอิ้ง 777 รุ่นเก่าที่มีใช้งานโดยสายการบิน JAL, ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ส, เอเอ็นเอ , โคเรียน แอร์ ไลน์ส , เอเชียนา แอร์ไลน์ส และจิน แอร์ (Jin Air)   

เมื่อปลดระวางเครื่องบินโบอิ้ง 777 รุ่นดังกล่าวไปแล้ว ข่าวระบุว่า JAL จะนำเครื่องบินแอร์บัส SE A350s ซึ่งเป็นรุ่นใหม่กว่ามาใช้งานแทนสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศบางเส้นทาง  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การบินโลกวิกฤต "ไออาต้า" ชี้สายการบินต้องการเงินช่วยเหลือ2.4ล้านล้านบาท

สายการบินไหนบินมากสุด ก่อนโควิดระลอก 2 พ่นพิษ

ส.ส.มะกันจี้ FAA ห้ามสายการบินขนคนร่วมม็อบป่วนพิธีสาบานตนปธน.คนใหม่

“ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส” ขาดทุนหนัก Q2 เฉียด 5 หมื่นล้าน

เจแปนแอร์ไลน์ จ่ายเงินพิเศษให้พนักงาน4.3หมื่นบาทให้กำลังใจสู้โควิด