หวั่นคลัสเตอร์สถานบันเทิงย้อนรอยปี 62 ที่ลามถึง 41 จังหวัด

05 เม.ย. 2564 | 07:42 น.

ศบค.ย้ำประชาชนและสถานบันเทิงให้ตั้งการ์ดใน “ระดับสูงสุด”  หลังเกิดคลัสเตอร์การแพร่ระบาดในสถานบันเทิงใจกลางกทม.และปริมณฑล จนมีผู้ติดเชื้อโควิดจากคลัสเตอร์เดียวกันถึง 71 ราย และกระจายไปในหลายจังหวัด เตือนอย่าย้อนรอยปี 62 ที่สนามมวยและสถานบริการในกทม.เป็นแหล่งกระจายโควิดไปใน 41 จังหวัด  

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยวันนี้ (5 เม.ย.) ว่า ที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก ได้ให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นหลักในวันนี้ได้แก่

ประเด็น การติดเชื้อโควิด-19 ในสถานบันเทิงในเขตกรุงเทพมหานคร ย่านทองหล่อ เอกมัย จตุจักร และรัชดาฯ รวมทั้ง การติดเชื้อในพื้นที่ปริมณฑล คือ จ. ปทุมธานี จ.นนทบุรี ซึ่งเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงที่ศาลายา จ.นครปฐม ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 3 เม.ย. 64 ชี้ให้เห็นว่า มี ผู้ติดเชื้อโควิดจากคลัสเตอร์เดียวกัน ถึง 71 ราย ทั้งยังพบการเชื่อมโยงของการติดเชื้อโควิด-19 ในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ เอกมัย จตุจักร รัชดาฯ และปริมณฑล ที่ขณะนี้มีการกระจายไปในหลายจังหวัด อาทิ นครปฐม ปทุมธานี เลย ชลบุรี เชียงใหม่ และชุมพร

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้วิเคราะห์จุดอ่อนที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิงว่า เกิดจาก ระบบระบายอากาศ เพดานต่ำ อากาศปิด การระบายอากาศไม่ดี นอกจากนี้ ยังมีการคลุกคลีใกล้ชิด พูดคุย ไอจาม หัวเราะ หรือตะโกนใส่กัน นอกจากนี้ ยังมีการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร่วมกัน ใช้ภาชนะร่วมกัน หรือไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย

“นอกจากนี้ เรายังพบว่า นักท่องเที่ยวสถานบันเทิงเหล่านี้ มักจะไปต่อหลายแห่งในคืนเดียว ไม่ว่าจะเป็นในเขตกทม. ปทุมธานี นนทบุรี หรือนครปฐม จึงมีการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการนำไปติดสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงในที่ทำงาน”

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคลัสเตอร์ใหม่สถานบันเทิงในกทม.และปริมณฑลขณะนี้ ทำให้มีการนำภาพเหตุกาณณ์ที่เกิดขึ้นไปเปรียบเทียบกับในปี 2562 ซึ่งครั้งนั้นมีแหล่งกระจายเชื้อโควิดเป็นคลัสเตอร์สนามมวยและสถานบริการในกทม. ซึ่งจากนั้นก็มีการแพร่กระจายเชื้อไปยังจังหวัดต่าง ๆถึง 41 จังหวัด (ดังภาพประกอบ)   

 

หวั่นคลัสเตอร์สถานบันเทิงย้อนรอยปี 62 ที่ลามถึง 41 จังหวัด   

ศบค.จึงขอความร่วมมือสถานบันเทิงทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้เพิ่มความเข้มงวด ขอให้ยกการ์ดในระดับสูงสุด ทั้งนี้ หากพบว่า สถานบันเทิงแห่งใด ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะดำเนินการ 3 ระดับ ดังนี้

          1.ร้านไหนตรวจพบผู้ติดเชื้อ สั่งปิดทันทีอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อระมัดระวังการควบคุมโรค

          2. หากพบสถานบันเทิงมากกว่า 1 แห่งในโซนนั้นๆ ติดเชื้อโควิด-19 ก็สั่งปิดเป็นโซน เป็นแก้ปัญหาเฉพาะโซน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าย่านทองหล่อ มีสถานบันเทิงหลายแห่งตรวจพบผู้ติดโควิด ก็อาจสั่งปิดสถานบันเทิงลักษณะเดียวกันนั้นทั้งย่านทองหล่อ

          3. หากดำเนินการแล้วยังพบผู้ติดเชื้อหรือยังแก้ไม่ได้ มีการแพร่ระบาดกระจายทั้งจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการควบคุมโรคระดับจังหวัด หรือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็สามารถพิจารณาสั่งปิดสถานบันเทิงเหล่านั้นทั้งจังหวัด

ส่วนร้านอาหาร ยังไม่เจอคนติดเชื้อ จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ติดตามและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดที่สุด ตั้งการ์ดในระดับสูงสุด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง

อีกประเด็นสำคัญจากที่ประชุม คือ การติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส กรมควบคุมโรค เสนอในที่ประชุมศบค.ว่า ได้มีการตรวจตัวอย่างค้นหาเชื้อไปแล้ว 214 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้พบติดเชื้อ 112 คน เป็นนักโทษ 88 คน (นักโทษชาย 87 คน นักโทษหญิง 1 คน) เจ้าหน้าที่เรือนจำ 23 คน และพยาบาลเรือนจำ 1 คน มีการสอบสวนโรคอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเรือนจำนราธิวาสมีผู้ต้องขังจำนวนมากถึง 2,334 คน มีเจ้าหน้าที่เรือนจำรวม 97 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สัมผัสเชื้อที่มีความเสี่ยงทั้งสูงและต่ำรวม 791 คน

จากการสอบสวนโรคพบว่า การระบาดจากเรือนจำนราธิวาส เริ่มต้นจาก

          -28 มี.ค.64 พยาบาลคนที่มีอาการ ดูแลนักโทษ

          -29 มี.ค.64 พยาบาลคนดังกล่าว ช่วยเหลือกู้ชีพนักโทษ และเมื่อตรวจสอบพบว่าในแดนนั้นมีนักโทษแสดงอาการโรคทางเดินหายใจตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 64

          การตรวจสอบพบว่า พยาบาลตรวจเชื้อ 28 มี.ค. 64 พบเชื้อ 29 มี.ค. 64 ทำให้ทีมเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดูแลพร้อมกับพยาบาลที่ติดเชื้อ เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ขณะเดียวกันนักโทษจำนวนหนึ่งจากเรือนจำนราธิวาสที่ติดเชื้อโควิด-19  ยังเดินทางไปร่วมงานวิชาการที่จ.สุราษฎร์ธานี และการจัดงานดังกล่าว มีทั้งผู้คุมและนักโทษจากหลายจังหวัดเดินทางเข้าร่วมกิจกรรม ทำให้มีความเป็นห่วงว่าอาจมีการแพร่กระจายเชื้อ

ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ซึ่งประชาชนจำนวนมากจะเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงวันหยุด ศบค. และกรมควบคุมโรค เป็นห่วงใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ

          1.การเดินทาง การไปทำกิจกรรมแออัดกันในระบบขนส่ง

          2. การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของคนหมู่มาก และ

          3.นักท่องเที่ยวที่เดินทางอาจขาดความระวัง เรื่องนี้นอกจากการตกเตือนกันเองแล้ว ทางผู้ประกอบการสถานที่ท่องเที่ยวก็ต้องช่วยดูแล ช่วยเฝ้าระวังด้วย

“ขอเรียนย้ำด้วยความเป็นห่วงว่า ศบค.และกรมควบคุมโรค จะติดตามสถานการณ์แบบหายใจรดต้นคอพวกท่านเลยทีเดียว ขอให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวดที่สุด และตั้งการ์ดสูงสุด”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดบุกโรงเรียน รีเจ้นท์-เซนต์แอนดรูว์สประกาศปิด 3 วัน

คลัสเตอร์ผับ กทม. ตี "ชุมพร" ไข่แตก ติดเชื้อโควิด 2 ราย

โควิด-19 คุมไม่อยู่ หมอธีระแนะยอมรับความจริงก่อนจะระบาดหนักหน่วง

ลามไม่หยุด คลัสเตอร์สถานบันเทิง "ชลบุรี" พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 7 ราย

สยบข่าวโยงคลัสเตอร์ทองหล่อ “สุพัฒนพงษ์” โชว์ผลตรวจโควิด-19