ทีเอ็มบีประเมิน “พักทรัพย์ พักหนี้”SMEsได้ประโยชน์กว่า 1.8หมื่นราย

05 เม.ย. 2564 | 03:49 น.

TMB Analytics ประเมินเม็ดเงิน “พักทรัพย์ พักหนี้” 1 แสนล้าน พร้อมช่วยเหลือโรงแรมและธุรกิจบริการอื่นๆ คาดธุรกิจท่องเที่ยว SMEs ได้รับผลประโยชน์กว่า 18,650 ราย ช่วยบรรเทาภาระหนี้ที่มีอยู่ 9.1 หมื่นล้านบาท

TMB Analytics วิเคราะห์มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ 1 แสนล้าน เน้นช่วยเหลือภาคธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นผลดีต่อภาคธุรกิจให้มีทางรอดในช่วงรอฟื้นตัวกลับมา มองธุรกิจ SMEs โด้ประโยชน์ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้มีปัญหาหลักในการชำระหนี้ ทำให้ธุรกิจ SMEs ที่มีภาระหนี้สูงมีโอกาสเข้ามาตรการนี้กว่า 18,650 รายหรือคิดเป็น 14% ของผู้กู้ในธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมด ช่วยบรรเทาภาระหนี้ที่มีอยู่ 9.1 หมื่นล้านบาท

   ทีเอ็มบีประเมิน “พักทรัพย์ พักหนี้”SMEsได้ประโยชน์กว่า 1.8หมื่นราย          

TMB Analytics ประเมินมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน ภายใต้ชื่อมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) ในวงเงิน 1 แสนล้านบาท มีความพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มธุรกิจหลักที่ได้รับผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจบันเทิง ร้านอาหาร หรือ อพาร์ตเมนต์ หอพักให้เช่า เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขต่างๆแล้ว วงเงินสินเชื่อในมาตรการจำนวน 1 แสนล้านบาทมีปริมาณใกล้เคียงกับยอดสินเชื่อที่มีความเสี่ยงในปัจจุบัน

              จากข้อมูลคุณภาพสินเชื่อธุรกิจ ณ สิ้นปี 2563 พบว่า มูลค่าสินเชื่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสาคัญ (Stage 2) ของธุรกิจโรงแรมมีมูลค่ารวม 54,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับยอดสินเชื่อในธุรกิจท่องเที่ยว หอพัก ความบันเทิง กีฬา และ ร้านอาหาร จะทำให้ มูลค่าสินเชื่อ Stage 2 มียอดรวมกันอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท  ในขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL)  ของธุรกิจโรงแรมอยู่ที่ 22,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับธุรกิจอื่นๆ มียอด NPL รวมกันอยู่ที่ 38,000 ล้านบาท

             เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการในครั้งนี้ ที่ธุรกิจจำเป็นต้องมีหลักทรัพย์เป็นหลักประกันอยู่แล้วรวมถึงความสมัครใจของธุรกิจในการดำเนินกิจการต่อไปในระยะ 5 ปีข้างหน้า ทำให้ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวที่ต้องการความช่วยเหลือ น่าจะมียอดสินเชื่อสูงใกล้เคียงระดับวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ ที่ 1 แสนล้านบาท จึงทำให้มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นมาตรการที่เน้นให้ความช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวเป็นหลัก

ธุรกิจ SMEs โด้ประโยชน์ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้มีปัญหาหลักในการชำระหนี้

       การให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อธุรกิจ SMEs เนื่องจากในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจ SMEs คือ กลุ่มผู้มีปัญหาหลักในการชำระหนี้ โดยยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ในธุรกิจโรงแรม SMEs ที่มีมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 99% ของสินเชื่อ NPL ในธุรกิจโรงแรมทั้งหมด  ในทำนองเดียวกัน ธุรกิจ SMEs กลุ่มท่องเที่ยวอื่นๆก็มีสัดส่วนสินเชื่อ NPL ที่สูง โดย ยอดสินเชื่อ NPL มูลค่า 1,300 ล้านบาทของธุรกิจ SMEs มีสัดส่วนคิดเป็น 99% ของยอดสินเชื่อ NPL รวมทั้งหมดในธุรกิจท่องเที่ยวเช่นกัน

        ยิ่งไปกว่านั้น ในสินเชื่อ Stage 2 กลุ่มธุรกิจ SMEs มีสัดส่วนสินเชื่อมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่อย่างมีนัยยะสำคัญในธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว โดยสินเชื่อธุรกิจโรงแรม SMEs ที่เป็นสินเชื่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสาคัญ (Stage 2) มีมูลค่า 48,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89% ของสินเชื่อ Stage 2 ในธุรกิจโรงแรมทั้งหมด  ส่วนธุรกิจร้านอาหาร พบว่า 82% ของสินเชื่อ Stage 2 ทั้งหมด เป็นของธุรกิจ SMEs (คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อ 8,100 ล้านบาท)

 

            จากข้อมูลงบการเงินปี 2562 โดยใช้อัตราส่วนทางการเงินที่เรียกว่า ‘‘อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน’’ (Debt to Equity Ratio) กับความสามารถในการทำกำไรของกิจการ (Profitability) โดยประเมินธุรกิจที่มีโอกาสจะเข้าสู่โครงสร้างพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งเรียกว่า “กลุ่มเสี่ยง”  เป็นธุรกิจที่มีปัญหาภาระหนี้สูงจากการมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มผู้ประกอบการที่มีผลการดำเนินขาดทุนต่อเนื่อง (ตั้งแต่ปี 2560-62) ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 0.3 – 2.9 เท่า แตกต่างกันไปตามธุรกิจ โดยธุรกิจโรงแรมที่มี D/E สูงกว่า 2.5 เท่า จัดกลุ่มเสี่ยงมีถึง 4,315 ราย มีหนี้สินตามงบการงบอยู่ประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน โดยเฉพาะหอพัก/อพาร์ทเมนต์ ที่มี D/E สูงกว่า 2.9 เท่า มีกลุ่มเสี่ยงอยู่ 4,209 ราย มีหนี้สิน 1.5 หมื่นล้าน และความบันเทิง/กีฬา/สปา ที่มี D/E สูงกว่า 0.8 เท่า อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 4,005 ราย มีหนี้สิน 1 หมื่นล้านบาท

เมื่อแยกพิจารณาตามขนาดธุรกิจ 1. ธุรกิจ SMEs นิติบุคคล ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ที่ 18,567 ราย คิดเป็นสัดส่วน 45% ของจำนวน SMEs ทั้งหมด  ประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงได้แก่ โรงแรม (55%)  รองลงมาคือธุรกิจนำเที่ยว (สัดส่วน 44%) และกลุ่มความบันเทิง/กีฬา/สปา, หอพักอพาร์ทเมนต์, ร้านอาหาร (42%)   2. ธุรกิจขนาดใหญ่ มีจำนวนกลุ่มเสี่ยงอยู่ที่ 83 ราย คิดเป็นสัดส่วน 40% ของธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมด โดยประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนธุรกิจกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจนำเที่ยว (สัดส่วน 68%) รองลงมาคือ ความบันเทิง/กีฬา/สปา (46%) และโรงแรมและร้านอาหาร (35%)

 

ในภาพรวมมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เป็นมาตรการช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ประเด็นสำคัญที่จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ คือ การมีเงื่อนไขข้อตกลงระหว่างลูกหนี้-เจ้าหนี้ที่ชัดเจน ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยวของไทยที่มีธุรกิจ SMEs อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจบางส่วนอาจมีหลักทรัพย์ไม่เข้าเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ หรือมีปัญหาหนี้สินที่ไม่ได้อยู่ในระบบสถาบันการเงิน ส่งผลให้อาจยังคงมีธุรกิจ SMEs บางส่วนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือผ่านมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทางภาครัฐควรต้องมีมาตรการอื่นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยประคองธุรกิจให้ผ่านไปถึงช่วงที่ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่กลับเข้ามาอีกครั้ง