ลุ้นต่อหุ้น‘พลังงานทดแทน’ โครงการชีวมวล 36 เมกะวัตต์TPCH มาแรงสุด

28 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
นักวิเคราะห์ให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน "มากกว่าตลาด" แม้ผลจับสลากโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ต่อเมกะวัตต์ไม่สูง อีกทั้งไม่เห็นอัพไซด์จากรอบนี้ คาดบจ.มีกำไร 2.5-2.7 ล้านบาท/เมกะวัตต์ รอบต่อไปลุ้นใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 ชายแดนใต้ 36 เมกะวัตต์ TPCH เข้าตามากที่สุด "สแกน อินเตอร์" เงินพร้อมลงทุนพัฒนาโครงการ 250 ล้านบาท พร้อมจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ภายในสิ้นปีนี้ หนุนรายได้รวมปี 60 เพิ่มกว่า 60 ล้านบาท

[caption id="attachment_47886" align="aligncenter" width="700"] บริษัทจดทะเบียนที่จับฉลากได้โซล่าฟาร์มสหกรณ์ บริษัทจดทะเบียนที่จับฉลากได้โซล่าฟาร์มสหกรณ์[/caption]

นายจรูญพันธ์ วัฒนวงศ์ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)(บมจ.) กล่าวว่า แม้ผลกำไรจากโครงการโซล่าร์หน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ต่อเมกะวัตต์ จะไม่ได้สูงอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทที่ได้รับการจัดสรรใบอนุญาตเมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา แต่ถือเป็นการเริ่มก้าวเดินอีกครั้งของอุตสาหกรรม หลังหยุดนิ่งมากว่า 1 ปี ดังนั้นจึงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มพลังงานทดแทนที่"มากกว่าตลาด " หรือ "Overweight"

โดยมองว่าการจัดสรรใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 36 เมกะวัตต์ จะเป็นพื้นที่ถัดไปสำหรับการเก็งกำไร และบมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (TPCH ) เป็นบริษัทที่ฝ่ายวิจัยบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ มองว่ามีโอกาสสูงสุดในพื้นที่นี้

ทั้งนี้ผลสรุปผลการจับฉลากบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ไป 30% ของทั้งหมดที่มีการจับฉลากรอบแรก 300 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 800 เมกะวัตต์ เฉพาะสหกรณ์การเกษตร พบว่ามีบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ซึ่งร่วมมือกับสหกรณ์ ได้รับการจัดสรร 11 ราย ได้รับการจัดสรรรายละ 1-4 โครงการ รวมทั้งสิ้น 89 เมกะวัตต์ (ดูตารางประกอบ) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนราว 8 พันล้านบาท

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ประเมินผลกำไรต่อเมกะวัตต์ต่อปี ไว้ที่ราว 2.5-2.7 ล้านบาท บนราคารับซื้อไฟฟ้า Feed-in Tariff (FiT)ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย ยาวนาน 25 ปี ระยะเวลาการผลิตไฟฟ้า 4.5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งภายหลังทราบผล หุ้นในกลุ่มส่วนใหญ่เกิดการ Sell on Fact หรือเกิดแรงขายเมื่อรับรู้ข่าว โดยปรับตัวลง 1-3% ขณะที่บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก ( SUPER) และบมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี สามารถปรับตัวสวนขึ้นได้ เนื่องจากขนาดของโครงการที่ได้รับส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อผลการดำเนินงานที่ขาดทุน หรือ มีฐานกำไรที่ต่ำ ก่อนหน้า

บทวิเคราะห์บล.กสิกรไทย ระบุว่าฝ่ายวิจัยฯไม่เห็นอัพไซด์ที่สำคัญจากรอบนี้เลย เนื่องจากเมกะวัตต์ที่บริษัทจดทะเบียนได้มานั้นค่อนข้างน้อยสำหรับทุกบริษัท โดยคาดการณ์กำไรประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ที่ได้รับ ซึ่งไม่ได้มีนัยสำคัญต่อบริษัทใดๆ เลย

ขณะที่คาดว่าสำหรับเฟส 2 นั้น การแข่งขันน่าจะสูงมากขึ้น ทำให้ลดโอกาสที่จะจับฉลากได้ อย่างไรก็ตามยังคงเลือก TPCH เป็นหุ้นเด่นสำหรับกลุ่ม เนื่องจากกำไรเติบโต 127% จากโครงการที่ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA )แล้วทั้งหมด

ดร.ฤทธี กิจพิพิธ กรรมการบริหาร บมจ. สแกน อินเตอร์ (SCN) ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้หวนกลับมารุกธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) อีกครั้ง หลังจากร่วมกับสหกรณ์การเกษตรสตรีบางภาษี จำกัด เข้าร่วมยื่นขอใบอนุญาตรับซื้อไฟฟ้า จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ โดย บริษัทฯ สามารถจับฉลากคว้าใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว จำนวน 5 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ในราคา 5.66 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เป็นระยะเวลา 25 ปี

บริษัทได้เตรียมเงินลงทุนในโครงการดังกล่าวประมาณ 250 ล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงการนี้ โดยเลือกใช้พื้นที่ของสหกรณ์การเกษตรสตรีบางภาษี จังหวัดนครปฐม จำนวน 60 ไร่ เพื่อดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่ภาครัฐ คาดว่าจะดำเนินงานจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบ (COD) ได้ภายในสิ้นปีนี้ ตามที่ กกพ. ได้กำหนดไว้ โดยคาดว่าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) จากโครงการนี้อยู่ที่ 12% ซึ่งจะเข้ามาช่วยหนุนรายได้รวมของในปี 2560 เพิ่มขึ้นอีกกว่า 60 ล้านบาท

"การคว้าใบอนุญาตจากโครงการโซล่าร์ฟาร์มในส่วนของสหกรณ์ครั้งนี้ จะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานและการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่บริษัทฯ ต่อไป" ดร.ฤทธี กล่าว

Photo : pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559