พิษโควิด ฉุดยอดบัตรเครดิต ติดลบ20%

04 เม.ย. 2564 | 20:15 น.

โควิด-19 พ่นพิษ ฉุดยอดบัตรเครดิต ไตรมาสแรกติดลบ20% ต่อเนื่องจากปีก่อน แม้สัญญาณเริ่มกลับในเดือนมี.ค.หลังสถานการณ์คลี่คลาย แต่ยังไม่มากพอ เหตุยังไม่มั่นใจรายได้ในอนาคต ผู้ประกอบการหันมาเน้นคุณภาพสินเชื่อ หลังเห็นสัญญาณชำระหนี้อ่อนลง เตรียมหารือธปท.ขยายเวลาชำระขั้นตํ่า 5% ถึงปี 65

จากสถานการณ์ในตลาดบัตรเครดิตภายใต้สภาวะคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง แต่แนวโน้มการแข่งขันยังรุนแรงทั้งผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงินและ Non-bankทั้งผู้ให้บริการเก่าและรายใหม่ เห็นได้จากทั้งระบบมีจำนวนบัตรเครดิต 24.16 ล้านใบ และ มียอดสินเชื่อคงค้าง 4.23 แสนล้านบาท(สิ้นเดือนม.ค.64) 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว 14.8% แต่ศูนย์วิจัย กรุงศรีอยุธยาคาดว่า ในปี 2564-2566 ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะกลับมาเติบโตเฉลี่ย 5.7%ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่ม Millennial และ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่นิยมเลือกซื้อสินค้าและชำระเงินด้วยช่องทางดิจิทัลรวมถึงพันธมิตรผู้ให้บริการสินค้าออนไลน์ยังให้ผู้บริโภคเลือกใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น 

อย่างไรก็ตามหลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง การใช้จ่ายผ่านบัตรในประเทศปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce แต่ธุรกิจยังคงเผชิญกับปัจจัยลบจากรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น และการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการของภาครัฐ รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานอาจเพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองเพื่อรองรับหนี้เสีย

มูลค่าบัตรพลาสติก

นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการกรรมการผู้จัดการ บริษัทเจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัดและในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิตไทย-สมาคมธนาคารไทยเปิดเผยว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตร ไตรมาสแรกปีนี้ หดตัว5-15% จากยอดบัตรใหม่ที่ติดลบ 20-30% แม้เดือนมีนาคม จะเห็นการกลับมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถชดเชย 2 เดือนที่ผ่านมาได้ ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 น่าจะเห็นการเติบโตในอัตรา 20-30% ขึ้นกับการปรับกลยุทธ์ของแต่ละสถาบันการเงินซึ่งจะทำให้ยอดใช้จ่ายทั้งปี2564 เติบโตได้ 5-20% โดยบัตรใหม่จะเติบโต 5-10% 

ขณะที่ในส่วนของบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน ตั้งเป้ายอดใช้จ่าย 7.74 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตที่ 9% ยอดสินเชื่อคงค้าง 2.15 หมื่นล้านบาทจาก 2.2 หมื่นล้านบาท และยอดสินเชื่อบุคคลใหม่( Digital Lending) เพียง 1,800 ล้านบาท และตั้งเป้าสิ้นปี จะเพิ่มบัตรคอนแทคเลส(บัตรไร้สัมผัส)เป็น 4.5 แสนใบจากปัจจุบัน 2.2 แสนใบ

ทั้งนี้บริษัทให้นํ้าหนักกับการบริหารความเสี่ยงในการอนุมัติสินเชื่ออย่างระมัดระวังเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระเพิ่มขึ้น ขณะที่การหาบัตรใหม่จะร่วมมือกับเครือธนาคาร กรุงศรี เครือเซ็นทรัล ซึ่งหน่วยธุรกิจในเครือ มีอัตราเติบโตสูง ผ่าน 3 กลยุทธคือ 1.ส่งเสริมช่องทางการขายและประสบการณ์ดิจิติทัล 2.ทำตลาดและโปรโมชั่นแบบแนวนอนมอลล์เร่งยอดใช้จ่ายผ่านบัตรออมนิชาแนลทั้งออนไลน์ออฟไลน์ และ 3.การบริหารผลิตภัณฑ์และสิทธิประโยชน์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างหารือธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อขอให้คงการผ่อนชำระขั้นตํ่าที่อัตรา 5% จากเดิมธปท.กำหนดให้กลับไปผ่อนชำระในอัตรา 8% ในปี2565 เนื่องจากมองว่า ภาวะเศรษฐกิจปีนี้น่าจะกลับมาฟื้นตัวในครึ่งปีหลังและที่ผ่านมาพบว่า การปรับเพิ่มวงเงินการผ่อนชำระ จะกระทบกำลังของผู้บริโภคค่อนข้างมาก แต่อาจจะมีมาตรการสำหรับคนที่กลับมาผ่อนชำระไม่ไหวในระยะต่อไป

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ เคทีซี ระบุว่า บริษัทยังมุ่งรักษาคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ที่ดีทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล โดยตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2564 เติบโต 8 % เป็น 2.1 แสนล้านบาทจากปีก่อนอยู่ที่ราว 1.97 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันมีเป้าหมายจะขยายฐานสมาชิกใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาคือ บัตรเครดิต 2.35 แสนใบ และสมาชิกบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” อีก 1.35 แสนราย 

“การใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มียอดใช้จ่ายบัตรผ่านออนไลน์เติบโต 50 % เป็นการซื้อสินค้าเป็นหลักซึ่งส่วนของใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยว ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีและเชื่อว่าจะกลับมาช่วงครึ่งหลังของปีนี้”นางพิทยากล่าว 

ขณะที่บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์(ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน) หรือ
AEONTS ประเมินภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตไตรมาสแรกปีนี้ว่า มีแนวโน้มการใช้จ่ายเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจะเริ่มเห็นการใช้จ่ายกลับมาในช่วงต้นปี โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้สูงเดือนละ 3-5 หมื่นบาทขึ้นไป ที่มีการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มอุปโภคบริโภค หรือ อาหารเละอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่กลุ่มที่ยังซบเซา จะอยู่ในภาคบริการทั้งภาคท่องเที่ยวและโรงงาน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,667 วันที่ 4 - 7 เมษายน พ.ศ. 2564