จี้จัดเกรดมาตรฐานการส่งออก “ข้าวพื้นนุ่ม”

01 เม.ย. 2564 | 07:20 น.

สมาคมชาวนาฯ ดันข้าวพื้นนุ่ม ชง “กรมการค้าภายใน” เร่งจัดเกรดมาตรฐานการส่งออก หวังเพิ่มศักยภาพให้ส่งออก สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั่วโลก ผวาน้ำท่า สมบูรณ์ ราคาข้าวตก

วันที่ 1 เมษายน 2564 นายวัฒนศักดิ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน  กระทรวงพาณิชย์ เชิญสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เข้าร่วมประชุม ในเรื่องการกำหนดความต้องการใช้ข้าว ปีการผลิต2564/65 นั้น 

 

ปราโมทย์ เจริญศิลป์

 

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงข้อเสนอของสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เรื่องของอนาคตข้าวพื้นนุ่ม หรือ ข้าวนุ่ม  คือ 1.ควรกำหนดให้ข้าวนุ่ม (ไม่หอม) อยู่ในมาตรฐานสินค้าข้าวไทยเช่นเดียวกับข้าวชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมไทย ข้าวขาว ข้าวเหนียว ข้าวนึ่ง และข้าวกล้อง เพื่อจะได้มีความชัดเจน เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวพื้นนุ่ม ที่มีความต้องการของตลาดภายใน และต่างประเทศ และใช้พันธุ์ที่เป็นข้าวเปลือกซึ่งได้รับรองพันธ์ุ จากกรมการข้าว เช่น ข้าวเปลือกเจ้าพื้นนุ่ม พันธ์ุ กข.79 และพันธ์ุ กข.87 

 

2.เร่งส่งเสริมให้ข้อมูลความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องของคุณสมบัติ ของพันธ์ุข้าวพื้นนุ่ม กข.79 กข.87 และพันธ์ุข้าวพื้นแข็ง กข.85 เช่นผลผลิต อายุการเก็บเกี่ยว ช่วงเวลาเพาะปลูกที่เหมาะสมที่ชัดเจน และจุดเด่นจุดด้อย เพื่อให้เกษตรกรนำไปพิจารณาในการเพาะปลูก ตามความเหมาะสมของพื้นที่

 

3.ให้มีการพัฒนา วิจัย ปรับปรุงพันธุ์ข้าว ให้มีลักษณะเด่น ผลผลิตสูง (ไร่ละไม่ตำ่กว่า 1,200 กิโลกรัม) อายุการเพาะปลูก 100-120 วันไม่เกินนี้ ทั้งพื้น นุ่ม และพื้นแข็ง และพัฒนาพันธ์ุข้าวหอมมะลิ105 และกข.15 ให้มีความหอม ได้ผลผลิตมากขึ้นกว่าเดิม แต่ยังคงคุณสมบัติโดดเด่นเดิม และพัฒนาพันธ์ุข้าวหอมปทุม ให้ผลผลิตสูงขึ้นกว่าเดิมและยังคงคุณสมบัติโดดเด่นเดิม และมีความต้านทานโรคพืชโรคแมลง

 

4.โครงการประกันรายได้เกษตรกร "ประกันราคาข้าว" ให้เพิ่ม กลุ่มข้าวพื้นนุ่ม กข79 และ กข87 เพื่อเป็นการกระตุ้นส่งเสริม ให้เกษตรกรปลูกข้าวที่ดีมีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งภายในและส่งออก

 

5.เรื่องของข้าวหอมพวง หรือที่เรียกกันว่าจัสมิน เป็นพันธุ์ข้าวที่ กรมการข้าว ไม่ได้มีการรับรองพันธุ์  สาเหตุที่เกษตรกร นำมาเพาะปลูกเนื่องจาก ให้ผลผลิตต่อไร่สูง อายุการเพาะปลูก 90 วัน ต้นเตี้ย มีความต้านทานโรคพืชโรคแมลง  ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีพันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์ชาวนาได้ดี และหลังจากที่ชาวนาปลูกไปแล้ว ก็มีโรงสีรับซื้อและบอกว่าเป็นข้าวนุ่ม จึงให้ราคาดี  เกษตรกรจึงมีการเพาะปลูกมากขึ้น ดังนั้นหากเป็นไปได้ ควรให้มีการรับรองพันธุ์ข้าวชนิดนี้ เพื่อจะได้มีการนำไปพัฒนาปรับปรุงคัดสายพันธุ์ ให้ดียิ่งขึ้น หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องหาพันธ์ุข้าวที่กรมการข้าวมีความเทียบเท่าไม่น้อยกว่า  และต้องมีการเข้ามาส่งเสริม เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร

 

โรงสี

 

แต่เท่าที่ทราบและรับรู้กัน โรงสีที่อยู่ภาคกลาง เช่นนครปฐม สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และนครสวรรค์ เป็นแหล่งรับซื้อ ข้าวหอมพ่วง หรือจัสมิน  โดยบางครั้งให้ราคาดีกว่าข้าวเปลือกเจ้าพื้นแข็งทั่วไป หรืออย่างน้อยก็ราคาเท่ากับข้าวเปลือกเจ้าพื้นแข็ง  ซึ่งเกษตรกรก็พอใจเพราะข้าวชนิดนี้ให้ผลผลิตดี แต่ก็จะมีปัญหาสำคัญเกษตรกร เรื่องที่นำไปเพาะปลูก แล้วไม่มีแหล่งรับซื้อ หรือการรับซื้อไม่แน่นอน การใช้ข้าวของโรงสีในพื้นที่นั้นไม่หลากหลาย และไม่แน่นอน ก็จะเกิดปัญหานี้ได้

 

นายปราโมทย์ กล่าวว่า ถ้าหากการส่งออกยังไม่ดีขึ้น ยังอยู่ในระดับแค่ 5-6 ล้านตัน/ปี ก็อาจจะเกิดปัญหา ในปลายปีหากน้ำท่าสมบูรณ์  ก็จะกระทบราคาข้าวเปลือก ยิ่งผลผลิตตำ่จะกระทบรุนแรง แต่ถ้าหากสามารถปรับตัว ปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ต้นทุนตำ่ตอบโจทย์เกษตรกร ตอบโจทย์ตลาด ทั้งภายในและส่งออก ก็จะช่วยบรรเทาให้ผ่านไปได้ และมีโครงการประกันรายได้ของภาครัฐ เป็นตัวเสริมช่วย ที่สำคัญเร่งด่วนควรมีการให้ความรู้ ข้อแนะนำต่างๆวางแผนเพาะปลูก ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูทำนาปี ที่ใกล้เข้ามาแล้ว