ซีพีผนึกหอการค้าฯติวเข้ม “นักบิน-แอร์” ลุยสร้างธุรกิจใหม่

01 เม.ย. 2564 | 05:22 น.

สภาหอการค้าไทยผนึกม.หอการค้าไทยเปิดคอร์สพิเศษสร้างผู้ประกอบการใหม่แก่นักบิน-แอร์ฯ เชิญซีอีโอเครือซีพี ร่วมติวเข้มสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมเสนอไอเดียต้องกล้าลงทุน พลิกวิกฤติเป็นโอกาสสร้างธุรกิจใหม่ช่วงโควิด-19

รายงานข่าวระบุว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ร่วมกันจัดหลักสูตรระยะสั้น “สร้างผู้ประกอบการใหม่” สำหรับนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา มุ่งเน้นสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบการใหม่ให้กับกัปตันและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์โควิด-19

ในการนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร(ซีอีโอ) เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ได้ร่วมเป็น 1  ในวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ผู้ประกอบการใหม่สร้างได้” สร้างแรงบันดาลใจและส่งต่อพลังในการสร้างธุรกิจใหม่เพื่อฟันฝ่าวิกฤติโควิด-19 แก่บรรดานักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจากการบินไทยที่ร่วมรับฟังอย่างสนใจกว่า 150 คน

 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)กล่าวถึงแนวคิดการทำธุรกิจในช่วงวิกฤตและหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการ โดยยกกรณีศึกษาการดำเนินธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในอดีตตั้งแต่ 100 ปีก่อน ผ่านการปรับตัวเปลี่ยนแปลงและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการสร้างธุรกิจที่หลากหลายกระทั่งสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้กว่า 20 ประเทศทั่วโลก และทำการค้าขายกับอีก 100 ประเทศ โดยเครือซีพีผ่านทั้งอุปสรรคจากวิกฤตเศรษฐกิจ และการแข่งขันทางธุรกิจต่าง ๆ มาได้ โดยยึดแนวคิดหลักสำคัญคือ “การดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์” “เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส” และการมี “วิสัยทัศน์ในการกล้าลงทุน”

กรณีของเครือซีพีสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดการทำธุรกิจในช่วงเวลาวิกฤติ เช่นที่เกิดขึ้นขณะนี้จากภาวะโควิด-19 ดังนั้นมุมมองการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ จึงต้องมีความกล้าที่จะเสี่ยงในวิกฤติ ลงมือทำก่อนคนอื่น เห็นถึงโอกาสและ Pain Point ต่าง ๆ ของตลาดจะส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้

ซีพีผนึกหอการค้าฯติวเข้ม “นักบิน-แอร์” ลุยสร้างธุรกิจใหม่

ซีอีโอ เครือเจริญโภคภัณฑ์ แบ่งปันประสบการณ์ของเครือซีพีว่า ทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์ ซีพีเริ่มจากห้องแถว คือ ร้านเจียไต๋ จึง ตั้งอยู่ย่านเยาวราช เมื่อ 100 ปีที่แล้ว จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ เปิดขายวันแรก มียอดขาย 23 บาท เป็นผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์รายแรกที่ติดวันหมดอายุบนซอง หากซื้อไปแล้ว สินค้าหมดอายุ  ลูกค้าสามารถนำมาเปลี่ยนใหม่ได้  เรือบิน (เครื่องบิน) เป็นสัญลักษณ์ของ เทคโนโลยี และแสดงถึงความทันสมัย  เราเรียนรู้ว่านั่นคือความซื่อสัตย์ และคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่

พอมาถึงรุ่นที่ 2 เปิดร้านเจริญโภคภัณฑ์ จำหน่ายอาหารสัตว์ และเข้าสู่การเลี้ยงสัตว์ ก็ต้องล้มลุกคลุกคลาน ขาดทุนอยู่ 15 ปี จึงต้องไปหาไก่สายพันธุ์ดีที่สุดในโลกจากต่างประเทศและเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิม ให้สามารถเลี้ยงได้จำนวนมากขึ้นเพื่อให้คุ้มต้นทุน และเมื่อเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก เปิดร้านเซเว่น อีเลฟเว่นก็ขาดทุนจากการขยายกิจการถึง 15 ปี ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งก็ต้องปิดกิจการค้าปลีก คือ แม็คโคร และโลตัส ออกไป ซึ่งปัจจุบันได้ซื้อกิจการกลับคืนมา

“ถ้าจะเป็นผู้ประกอบการ หนึ่งในคุณสมบัติคือต้องยอมรับความเสี่ยง แต่ต้องเป็นความเสี่ยงที่ถึงตาย ต้องศึกษาให้ถึง Pain Point ของตลาด ที่สำคัญต้องมีศรัทธาและไม่ยอมแพ้ และต้องปรับตัว เห็นโอกาสในวิกฤติเสมอ ปัญหาทุกอย่างคือโอกาส คือ จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ” นายศุภชัยกล่าว

 กรณีโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจเดินทางได้รับผลกระทบ มองว่าเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวและจะกลับมาฟื้นอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้มีข่าวดีว่าวัคซีนที่ฉีดทั่วโลกมีผลลัพธ์ที่ดี และเชื่อว่าสิ้นปีนี้ทั่วโลกจะมีวัคซีนโดยทั่วและอาจได้เห็นพาสปอร์ตวัคซีนในการเดินทาง จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจการบินกลับมา และอาจจะกลับมาพลิกฟื้นมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเชื่อว่าธุรกิจที่มารองรับต่อจากนี้น่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น โควิด-19 จึงไม่ใช่วิกฤติไปตลอด

ซีพีผนึกหอการค้าฯติวเข้ม “นักบิน-แอร์” ลุยสร้างธุรกิจใหม่

นายศุภชัยยังกล่าวแนะนำแนวคิดการทำธุรกิจในช่วงวิกฤติว่า ในวิกฤติมีโอกาสทุกเรื่องไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมหรืออุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งช่วงวิกฤติโควิด-19 อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เติบโตคือ เทคโนโลยี ดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ และธุรกิจสุขภาพ แสดงให้เห็นว่าเป็นโอกาสแม้ในช่วงแย่ที่สุดก็ยังมีธุรกิจที่ปรับตัวได้ และหลายธุรกิจยังเติบโตขึ้นดีกว่าเดิม  ดังนั้นผู้ประกอบการต้องสามารถเห็นปัญหาได้ก่อน รู้ก่อนและแก้ปัญหานั้น นอกจากนี้ยังต้องสังเกตและใส่ใจมองเห็นถึงเมกะเทรนด์ของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไปด้วย เพราะทุกธุรกิจและบริการกำลังปรับตัวไปสู่ออนไลน์ทำให้เกิดอาชีพใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ ๆ ที่ผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการที่จะสร้างธุรกิจใหม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้ริเริ่ม

 นายศุภชัย กล่าวถึงหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการในการทำธุรกิจยุค New Economy ให้ประสบความสำเร็จ คือ 1.การมองเห็นปัญหาเป็นโอกาส เพราะปัญหาที่เกิดในการทำธุรกิจ คือการเรียนรู้สู่ความสำเร็จ 2.ต้องมี Mindset หรือกรอบความคิดที่ดีในการทำงาน คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและองค์กรเป็นที่ตั้ง พร้อมเปิดใจและปรับตัวในการเปลี่ยนแปลง เพราะในอนาคตทุกธุรกิจจะก้าวเข้าสู่ดิจิทัลเทคโนโลยี 3.ต้องมีหลักทางพุทธศาสนาคือความเมตตา และ “มรรค 8” ที่สามารถนำมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจได้จริง ประกอบด้วย เห็นชอบ คิดชอบ พูดชอบ ทำชอบ อยู่ชอบ เพียรชอบ สมาธิชอบ และปัจจุบันชอบ