ชาว“ต.ท่าแลง”เพชรบุรี เฮ! นายกเทศมนตรีอนุญาตทำบ่อขยะไม่ชอบ

31 มี.ค. 2564 | 10:01 น.

ศาลปค.เพชรบุรีพิพากษา “นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง” จ.เพชรบุรี ออกใบอนุญาตให้เอกชนใช้พื้นที่ทำบ่อขยะไม่ชอบ ละเลยต่อหน้าที่ส่งผลชาวบ้านเดือดร้อน สั่งแก้ปัญหาขยะ ฟื้นฟูแหล่งน้ำใน 90 วัน

วันนี้ ( 31 มี.ค.64) ศาลปกครองกลางเพชรบุรี มีคำพิพากษาให้นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง ใช้อำนาจตามกฎหมายในการควบคุม บริษัท ดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการบริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ตามสัญญาเลขที่ 1/2557 ลงวันที่ 29 ก.ค. 57  มิให้นำขยะใหม่เข้ามาในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง จ.เพชรบุรี จนกว่าจะมีการอนุญาตโดยถูกต้องตามกฎหมาย และให้ทำการปิดคลุมบ่อขยะอย่างมิดชิดป้องกันมิให้เกิดการแพร่กระจายของกลิ่น 

รวมทั้งป้องกันมิให้น้ำเสียอันเกิดจากขยะออกภายนอกพื้นที่ และให้นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง  ใช้อำนาจตามกฎหมายในการควบคุมบริษัทฯ ให้ทำการแก้ไขฟื้นฟูแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 

โดยศาลมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหากบริษัทฯ ยังคงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายนายกเทศมนตรีตำบลท่าแลงดำเนินการกับบริษัทฯตามที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ตามรายงานผลการตรวจสอบของพยานผู้เชี่ยวชาญต่อไป 

                                        ชาว ต.ท่าแลง จ.เพชรบุรี มาฟังคำพิพากษาศาลปกครอง กรณีบ่อขยะในพื้นที่

ทั้งนี้คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.เพชรบุรี  อดีตส.ว. พร้อมตัวแทนชาวบ้านรวม 38 คน ยื่นฟ้อง นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง และพวกรวม 3 คน กรณี นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง ออกใบอนุญาตให้บริษัท ดับเบิลยูพีจีอี ดำเนินโครงการบริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรไม่ชอบด้วยกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนด้านมลภาวะและก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพของชาวบ้าน จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการที่และสั่งให้บริษัทฯขนย้ายขยะที่นำมากองทิ้งไว้ออกนอกพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

ส่วนเหตุผลที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าวระบุว่า เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนที่นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง จะออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทบ่อขยะ ในพื้นที่ประกอบการ จำนวน 105 ไร่ ซึ่งถือเป็นกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้แก่บริษัทฯ ดังกล่าว  

นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง ได้มีการเสนอเรื่องการขอออกใบอนุญาตดังกล่าวต่ออำเภอท่ายางและคณะกรรมการตรวจสอบกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาต อนุมัติโครงการ หรือเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อพิจารณา ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ พบ 0016.3/ว 10801 ลงวันที่ 10 ก.ค. 2551เรื่อง การตรวจสอบกลั่นกรองการอนุญาต/อนุมัติโครงการหรือเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้ง การประกอบกิจการดังกล่าวถือเป็นกิจการที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของเทศบาลหรือประชาชนในท้องถิ่น แต่นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง  กลับไม่ได้มีการเสนอเรื่องต่อประธานสภาเทศบาลเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในท้องถิ่นตามมาตรา 32  ทวิ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496   

นอกจากนี้ กรณียังเป็นการออกใบอนุญาตและต่อใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทกิจการบ่อขยะ ก่อนที่บริษัทฯ ดังกล่าว จะเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสียจากบ่อขยะแล้วเสร็จ โดยบิรษัทฯ ดังกล่าว ไม่ได้มีมาตรการที่ชัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสีย รวมทั้งการบำบัดน้ำเสียจากบ่อขยะเพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ อันเกิดจากกองขยะพิพาท 

อีกทั้งยังเป็นการออกใบอนุญาตและต่ออายุใบอนุญาตโดยไม่ได้นำเอาข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมาพิจารณาร่วมกับบริษัทฯดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย วิถีชีวิต รวมทั้งเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้ที่พักอาศัยโดยรอบพื้นที่ 

ดังนั้น การที่นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง ออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทกิจการบ่อขยะ ให้แก่บริษัทฯดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการออกใบอนุญาตและต่ออายุใบอนุญาตที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด และเป็นการใช้ดุลพินิจในการออกใบอนุญาตโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงของสภาพปัญหากิจการบ่อขยะของบริษัทฯดังกล่าว ที่เกิดขึ้น กรณีจึงมีผลให้ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทกิจการบ่อขยะดังกล่าว ถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และเมื่อปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเสียจากบ่อขยะที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงที่มีสาเหตุจากการที่นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้บริษัทฯดังกล่าว มีมาตรการที่ชัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสียรวมทั้งการบำบัดน้ำเสียจากบ่อขยะ อันเป็นเหตุก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่น.ส.สุมลและพวก รวมทั้งผู้อยู่อาศัยโดยรอบพื้นที่ 

แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏต่อมาในภายหลังว่า บริษัทฯดังกล่าวได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการปิดคลุมกองขยะด้วยผ้า Geo Textile และผ้าพลาสติก HDPE รวมทั้งมีการปูพื้นบ่อรับน้ำชะขยะด้วยผ้า Geo Textile และผ้าพลาสติก HDPE ก็ตาม แต่โดยที่ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการดำเนินการตามคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือ วิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนการพิพากษาว่ายังคงมีปัญหาเรื่องกลิ่นของขยะใหม่ที่รอการปิดคลุม 

อีกทั้งปรากฏตามรายงานผล การตรวจสอบของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยานผู้เชี่ยวชาญ ว่าพบค่าโลหะหนักในตัวอย่างน้ำในบ่อติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินภายในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของบริษัทฯดังกล่าว เกินค่ามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน อาทิ สารหนู (As) ตะกั่ว (Pb) แมงกานีส (Mn) และซีลีเนียม (Se) 

สันนิษฐานได้ว่า น้ำชะขยะมูลฝอยในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยมีการปนเปื้อนลงในน้ำใต้ดินในระดับบ่อน้ำตื้น และในบริเวณพื้นที่โดยรอบของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยยังพบค่าปริมาณสารหนูในแหล่งน้ำผิวดิน ที่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 3 ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน 

รวมทั้งยังพบค่าโลหะหนักในแหล่งน้ำใต้ดินเกินค่ามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 20 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน ได้แก่ ตะกั่ว แมงกานีส สังกะสี และสารหนู นอกจากนี้แล้ว การประกอบกิจการของบริษัทฯดังกล่าว จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตจากนายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง โดยถูกต้อง อันเป็นการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับการอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด แต่นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง กลับไม่ได้ดำเนินการออกคำสั่งให้บริษัทฯดังกล่าวระงับการประกอบกิจการดังกล่าวแต่อย่างใด 

กรณีจึงถือได้ว่านายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง ละเลยต่อหน้าที่ในการแก้ไขระงับเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นในสถานที่ประกอบกิจการบ่อขยะของบริษัทฯดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือมีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน หรือเพื่อให้สามารถดํารงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน อันเป็นสิทธิที่น.ส.สุมล และพวกพึงได้รับตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา  66 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญ 60 มาตรา  43(8) มาตรา 50 (8) มาตรา 57(2) และพ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 28 วรรคสาม