อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ระดับ 31.31 บาท/ดอลลาร์

30 มี.ค. 2564 | 23:59 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาททยอยอ่อนค่า ขณะที่ทั้งจากสถาบันการเงินในประเทศและผู้นำเข้าขายเงินบาท

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 31.31 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 31.25 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์   หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินทั่วโลกแกว่งตัวในกรอบกว้าง โดยดัชนี S&P 500 ของสหรัฐยังไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ จึงปรับตัวลง 0.32% และนักลงทุนลดการถือครองหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี สวนทางกับดัชนี STOXX 600 ของยุโรปที่ขยับขึ้น 0.71%  จากกระแสการฟื้นตัวของธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดทำการใหม่ของเศรษฐกิจ

ประเด็นดังกล่าวหนุนให้นักลงทุนขายสินทรัพย์ปลอดภัยพร้อมกัน สังเกตุได้จากบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1.77% ระหว่างวันก่อนที่จะย่อตัวลงปิดบวก 2bps มาที่ระดับ 1.72% หนุนให้ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีก 0.4% ทำจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่พฤศจิกายน 2020 โดยมีเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าขึ้นเหนือ 110 เยนต่อดอลลาร์ครั้งแรกนับตั้งแต่มีนาคม 2020 พร้อมกันกับราคาทองคำที่ร่วงลงปิดที่ระดับ 1684 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในกลุ่มสินทรัพย์ทางเลือกมีเพียงบิทคอยน์ฟื้นตัวกลับขึ้นมาเหนือระดับ 58,000 ดอลลาร์ได้ เพราะความหวังว่าก.ล.ต.สหรัฐจะรับรองการจัดตั้ง ETF บิทคอยน์ของหลายบริษัท คาดว่าจะทำให้เกิดกระแสความต้องการสกุลเงินดิจิตอลเพิ่มขึ้น

 

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ช่วงนี้ยังคงทยอยอ่อนค่าทุกวันตามแนวโน้มของเงินดอลลาร์ การซื้อดอลลาร์ (ขายเงินบาท) มีทั้งจากสถาบันการเงินในประเทศและผู้นำเข้า ขณะที่แรงขายเงินดอลลาร์จากผู้ส่งออกชะลอตัวลงเนื่องจากเกิดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบตั้งต้นและเรือขนส่งสินค้า เงินบาทจึงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ในระยะถัดไป มองว่าทิศทางของบอนด์ยีลด์สหรัฐและตลาดหุ้นเอเชียเป็นสองประเด็นที่ต้องจับตา เพราะจะส่งผลลบสลับบวกกับเงินบาท คาดว่าเงินบาทจะหยุดอ่อนค่าก็ต่อเมื่อตลาดกลับมาเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฝั่งเอเชีย และมีเงินทุนไหลเข้าอย่างชัดเจน

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (31 มี.ค.) เคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่ากว่าแนว 31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนที่ 31.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลง สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากการปรับโพสิชันในช่วงสิ้นไตรมาส ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนมี.ค. 2564 ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด และแตะระดับสูงสุดในรอบประมาณ 1 ปี (นับตั้งแต่การระบาดของโควิด 19 ในเดือนมี.ค.2563) 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.00-31.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเปิดเผยแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของปธน. โจ ไบเดนของสหรัฐฯ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค. จาก ADP และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ