ศาลปกครองสูงสุดยืนคำสั่ง"ห้ามกทม.ทำถนนเลียบเจ้าพระยา" 

30 มี.ค. 2564 | 11:14 น.

    ศาลปค.สูงสุด มีคำสั่งยืนห้ามกทม .ดำเนินโครงการถนนเลียบเจ้าพระยา ชี้อาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกทม. มีสถานที่พักผ่อนอื่นที่ปชช.สามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่แล้ว

ศาลปค.สูงสุด มีคำสั่งยืนห้ามกทม .ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้อาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกทม. มีสถานที่พักผ่อนอื่นที่ปชช.สามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่แล้ว

 

วันที่ 30 มี.ค. 2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งห้ามมิให้กรุงเทพฯดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น 
    

โดยให้เหตุผลว่า การที่กรมเจ้าท่าได้อาศัยอำนาจตามข้อ 6 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 63 พ.ศ. 2537 ออกตามความในพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย 2456 อนุญาตให้ กรุงเทพมหานคร  ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำแม่น้ำ ประเภทก่อสร้างโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 1 ฝั่ง ตะวันออก จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานสามเสน ระยะทาง 2.99 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 ฝั่งตะวันตกจากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ระยะทาง 3.20 กิโลเมตร เพื่อพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่งให้มีลักษณะเป็นสะพานยกสูงเหนือระดับน้ำท่วมสูงสุด และใช้เป็นทางสัญจร รองรับการเดินทางด้วยจักรยานชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกายริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตามใบอนุญาตเลขที่ 16/ 2561 ลงวันที่ 19 ต.ค.2561 
    

ในชั้นนี้ จึงน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย หากให้กรุงเทพมหานคร กระทำต่อไป ซึ่งการกระทำที่ถูกฟ้องก็อาจเป็นเหตุให้เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคมและพวก รวม 12 คน ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการที่กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า
  

ส่วนที่คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร อุทธรณ์ว่า การที่ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือทางเดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้กรุงเทพมหานคร ไม่สามารถจัดทำบริการสาธารณะเพื่อให้ประโยชน์ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ส่งผลให้เป็นอุปสรรคแก่การบริหารราชการของกรุงเทพมหานครนั้น 
    

เมื่อพิจารณาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แผนงานที่ 1 กรณีก่อสร้างทางเดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทางสัญจร รองรับการเดินทางด้วยจักรยานชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 89 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ แต่กรุงเทพฯได้มีการจัดทำทางสัญจร รองรับการเดินทางด้วยจักรยานชมทัศนียภาพพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกายไว้ในสถานที่แห่งหนึ่งอยู่แล้ว ในเขตความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
    

อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดี ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้น การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลปกครองเบรก“กทม.”สร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา