เมียนมาหมิ่นเหม่เข้าสู่ภาวะกลียุค ใกล้เป็น "รัฐล้มเหลว" ที่ลุกโชน "ไฟสงครามกลางเมือง"

30 มี.ค. 2564 | 05:40 น.

ผู้เชี่ยวชาญมองสถานการณ์ในเมียนมารุนแรงรายวัน กำลังเข้าใกล้ภาวะ "รัฐล้มเหลว" ที่ปกครองไม่ได้ ซ้ำร้ายกองทัพเปิดศึกชนกลุ่มน้อยในเวลาเดียวกัน โหมไฟสงครามดันผู้อพยพหลายพันทะลักออกนอกประเทศ

เมียนมา กำลังเผชิญ “วิกฤตซ้ำซ้อน” ทั้งภาวะกลียุคจากการที่กองทัพใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงรายวันและการหยุดงาน-ปิดเศรษฐกิจประเทศ ทำให้นักวิชาการมองว่า เมียนมาขยับเข้าใกล้ ภาวะ “รัฐล้มเหลว” เข้าไปทุกที ขณะที่การเปิดศึกกับชนกลุ่มน้อยในเวลาเดียวกัน ก็ยิ่งเพิ่มภาวะ “สงครามกลางเมือง” ที่ทำให้มี ผู้อพยพทะลักข้ามพรมแดน มายังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ

ภาวะ “รัฐล้มเหลว” หรือ failed state ที่รัฐที่ไม่สามารถบริหารการปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศเนื่องจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางการเมือง กำลังจะเกิดขึ้นในเมียนมา ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Lowy Institute ในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ประชาคมโลกจำเป็นต้องร่วมมือมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อส่งแรงกดดันไปยังเมียนมาให้เร่งแก้ไขวิกฤตสังคมและการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น

“เมียนมากำลังยืนอยู่บนปากเหวของการเป็นรัฐล้มเหลว” นายเฮอร์วี เลอมาฮิว ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการทูตและอทธิพลเอเชีย สถาบัน Lowy Institute ให้สัมภาษณ์รายการ Squawk Box Asia สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีเมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) และว่า สถานการณ์ในเมียนมามีความซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้นและยากจะรักษาความสงบสุขเพราะกองทัพ “ปกครองประเทศด้วยปืน” เมื่อเป็นเช่นนี้ผลก็คือประเทศจะขาดสเถียรภาพลงไปเรื่อย ๆ และก็ยิ่งปกครองได้น้อยลงๆทุกที

อำนาจที่ได้มาด้วยปืนเป็นเรื่องที่น่าวิตก

นางซูจีและพันธมิตร เรียกร้องชนกลุ่มน้อยติดอาวุธให้ร่วมกันสู้

 

ถึงแม้นานาประเทศจะประณามรัฐบาลทหารเมียนมาที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน แต่นักวิชาการก็มองว่านั่นยังไม่เพียงพอที่จะสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลเมียนมา จำเป็นต้องมีความร่วมมือมากยิ่งขึ้นในการกดดันจากประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของเมียนมา รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและอาจจะญี่ปุ่นด้วย โดยนายเฮอร์วี เลอมาฮิว จากสถาบัน Lowy Institute ระบุว่า ประเทศที่มีอิทธิพลต่อเมียนมาเหล่านี้ควรออกแรงร่วมกันกดดันให้นายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมาในปัจจุบัน เกษียณอายุตามกำหนดในเดือนมิ.ย.ปีนี้ตามที่เขาเองได้เคยเอ่ยปากไว้ ซึ่งหากทำเช่นนั้นได้ ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีประการแรกที่จะนำไปสู่การคลี่คลายของสถานการณ์     

อย่างไรก็ตาม นอกจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางสังคมและการเมืองที่สะท้อนให้เห็นจากการชุมนุมประท้วง กระแสอารยะขัดขืน-ปิดเศรษฐกิจประเทศ และการปราบปรามรายวันด้วยแก๊สน้ำตาและอาวุธจริงดังที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว ขณะเดียวกัน ช่วงไม่กี่วันมานี้ กองทัพเมียนมายัง “เปิดศึกอีกด้าน” กับกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย มีการนำเครื่องบินรบนำระเบิดไปถล่มฐานที่ตั้งและหมู่บ้านกะเหรี่ยง ทำให้มีผู้อพยพหนีไฟสงครามกลางเมือง (civil war) ทะลักข้ามเขตแนวชายแดนมายังฝั่งไทยจำนวนหลายพันคน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานผ่านบทความ Myanmar Civil War Fears Growing After Airstrikes on Ethnic Army (ความหวั่นวิตกเกี่ยวกับสงครามการเมืองในเมียนมาพุ่งขึ้นหลังการโจมตีทางอากาศถล่มกองทัพชนกลุ่มน้อย) เผยแพร่วานนี้ (29 มี.ค.) ว่า ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงในเขตเมืองใหญ่หลายแห่งเพิ่มขึ้นมากเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาก็ได้สร้างปัญหาใหม่ขึ้นอีกด้าน นั่นคือการส่งเครื่องบินรบไประเบิดถล่มกลุ่มกะเหรี่ยง KNU (Karen National Union) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ติดชายแดนไทย

ชาวบ้านนับหมื่นได้รับผลกระทบจากไฟสงคราม

มีรายงานยืนยันว่า การโจมตีถล่มชนกลุ่มน้อยดังกล่าวทำให้ชาวบ้านราว 10,000 คนในพื้นที่พากันอพยพหนีไฟสงครามกลางเมืองซึ่งส่วนหนึ่งทะลักข้ามชายแดนมายังประเทศไทย

รายงานข่าวของบลูมเบิร์กระบุว่า การโจมตีทางอากาศของกองทัพรัฐบาลเมียนมามีขึ้นเป็นการตอบโต้การที่กลุ่มกบฏกะเหรี่ยงโจมตีที่มั่นของกองทัพแห่งชาติก่อนและทำให้มีทหารเสียชีวิต 10 นายและถูกจับเป็นตัวประกัน 8 นาย

ศจ. ลี มอร์เกนเบสเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ชัดเจนว่าการประท้วงในเมียนมาจะยกระดับกลายสถานะเป็นสงครามกลางเมืองหรือสงครามข้ามรัฐ และก็มีความเป็นไปได้ว่าการต่อสู้ปราบปรามชนกลุ่มน้อยจะส่งผลกระทบกระฉอกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยที่มีชายแดนติดกัน โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมของไทย ก็ได้ออกมาประกาศแล้วเมื่อวันจันทร์ (29 มี.ค.) ว่าไทยพร้อมรับมือกับคลื่นผู้อพยพที่คาดว่าจะทะลักมาจากเมียนมา

ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอิทธิพลสูงต่อเมียนมาและมีแนวชายแดนร่วมกันเป็นระยะทางยาวกว่า 2,100 กิโลเมตร ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ทุกฝ่ายในเมียนมาควรร่วมกันคลี่คลายความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่จีนขอสงวนท่าที ไม่ออกความเห็นว่าเหตุการณ์ในเมียนมาจะขยับขยายกลายเป็นสงครามกลางเมืองหรือไม่ โดยระบุแต่เพียงว่า “ความรุนแรงและการนองเลือดไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ใครเลย”

ด้านผู้ชุมนุมและพันธมิตรแถวหน้าของบรรดาผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่ถูกกองทัพจับตัวไป ซึ่งรวมทั้งนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรค NLD ได้พยายามเรียกร้องให้ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธทุกกลุ่มในเมียนมารวมพลังกันต่อสู้กับกองทัพเมียนมา ซึ่งผลก็คือเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 มี.ค.) กลุ่มกะเหรี่ยงติดอาวุธ KIA (Kachin Independence Army) ได้โจมตีหน่วยรบพิเศษของกองทัพเมียนมาอย่างน้อย 4 หน่วยรบในรัฐคะฉิ่นและมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการโจมตีครั้งนี้

 

ข้อมูลอ้างอิง

Myanmar Civil War Fears Grow After Airstrikes on Ethnic Army

Myanmar is on the brink of becoming a ‘failed state,’ says expert from think tank

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

KNU รุกหนัก ยึดฐานทหารเมียนมาได้อีกรวม 2 ฐาน

‘เมียนมา’แรง ธุรกิจไทยอัมพาต ต่างชาติถอนลงทุน

สหรัฐ-ญี่ปุ่นร่วมอีก 10 ประเทศประณามกองทัพเมียนมากระทำรุนแรงผู้ชุมนุม

วิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรงตั้งเค้าในเมียนมา ราคาอาหาร-เชื้อเพลิงพุ่งติดจรวดหลังรัฐประหาร

รง.จีนถูกเผา จี้“เมียนมา”คุมเข้ม 136 นักธุรกิจไทย Go Home